8 แนวโน้มรูปแบบธุรกิจในอนาคต
ผมได้รับข้อมูลและภาพอินโฟกราฟิกที่สรุปภาพรวมของงานวิจัยออกมาเป็น 8 เมกะเทรนด์ ในมิติด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม
ว่าอะไรคือโอกาสและความท้าทายในโลกยุคดิจิทัล จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ภายใต้ “โครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand)” ที่สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์ของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า
โดยร่วมมือกับนักวิจัยนับร้อยจากหลายหน่วยงานชั้นนำระดับประเทศ ผ่านการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นแบบแผนใน 10 มิติสำคัญ คือ 1. ประชากรและโครงสร้างสังคม 2. สังคม ชนบท ท้องถิ่น 3. การศึกษา 4. สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 5. เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม 6. เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ 7. วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย) 8. การเมือง 9. บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ และ 10. คนและความเป็นเมือง โดยมิติต่าง ๆ จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
การคาดการณ์อนาคต (Foresight) ของประเทศไทยจะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยไปในทิศทางที่ต้องการ โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญและมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ขณะเดียวกันท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ การศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบจะช่วยให้สามารถเข้าใจและรู้ถึงสิ่งที่มีโอกาสและสามารถเป็นไปได้ในแต่ละมิติ
แรงผลักดันจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค สภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเมืองโลก นำมาซึ่งกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อาจพลิกโฉมภาคธุรกิจ โดยทีมวิจัยของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้สรุปความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายจากผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาในมิติด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม จากแรงผลักดัน (Driving Force) สู่ 8 เมกะเทรนด์ โดยรูปแบบธุรกิจในอนาคตที่ผู้ประกอบการต้องนำไปคิดต่อ มีดังนี้
แนวโน้มที่ 1 จากสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ กฎระเบียบโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดแนวโน้ม Neo-Ecological Business สินค้าและบริการที่นำเสนอภาพลักษณ์ของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง
แนวโน้มที่ 2 จากกระแสสังคม ความยุติธรรม ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส เกิดแนวโน้ม Ethical Business Operation องค์กรที่ยึดมั่นใสความสุจริต โปร่งใส และมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ จะได้รับการสนับสนุนและการปกป้องจากภาคประชาสังคม
แนวโน้มที่ 3 จากเทคโนโลยีการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Thing) เทคโนโลยีการประมวลผล ทรัพยากรขาดแคลน เกิดแนวโน้ม Everything-As-A-Service การปรับรูปแบบธุรกิจจาก “ผลิตสินค้าเพื่อขาย” มาเป็น “การให้บริการ” สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
แนวโน้มที่ 4 จากการเข้าใจลูกค้า ประสบการณ์ใหม่ ความเป็นปัจเจก การเข้าถึงบริการ เกิดแนวโน้ม Digital Touch Point การสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าแล้วยังช่วยให้องค์กรเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
แนวโน้มที่ 5 จากเครือข่ายดิจิทัล การขนส่งไร้พรมแดน การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เกิดแนวโน้ม Micro Supply Chain กิจการขนาดใหญ่ลดการพึ่งพาผู้ส่งมอบหลักไม่กี่ราย สร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็กทั่วทุกมุมโลก โครงข่ายการสื่อสารและการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ
แนวโน้มที่ 6 จากเทคโนโลยีดิจิทัล การเพิ่มประสิทธิภาพ การควบคุมต้นทุน การผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่ม แรงงานขาดแคลน เกิดแนวโน้ม Smart production แนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 จะช่วยให้การผลิตของธุรกิจมีความยืดหยุ่น ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างฉับไว
แนวโน้มที่ 7 จากรสนิยมผู้บริโภค ความสามารถของเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน โอกาสทางการตลาด เกิดแนวโน้ม Big Data Analytic & AI การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์จะเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยสินค้าและบริการที่แตกต่างและนวัตกรรมที่เหนือความคาดหมาย
แนวโน้มที่ 8 จากแรงงานยุคใหม่ การควบคุมต้นทุน การผลิตน้อยชิ้น ความผันผวนของเศรษฐกิจ เกิดแนวโน้ม On-Demand Workforce รูปแบบการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่น ช่วยให้การจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพ สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาสู่องค์กรได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้สิ่งที่ยากที่สุดของการคาดการณ์อนาคตก็คือเรื่องจินตนาการของคน ทำอย่างไรถึงจะเอาอคติที่มีในแต่ละคนออกไปแล้วช่วยกันสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ความแม่นยำ แต่เป็นการสร้างความหลากหลายออกมาเป็นภาพร่วมกัน และคำนึงถึงความไม่แน่นอน