รวมกันเราอยู่

รวมกันเราอยู่

โลกหลังยุคโควิด มนุษย์ต้องพิจารณาการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริง ทำลายกำแพงการแข่งขัน หรือการกีดกันระหว่างประเทศ หากหวังจะอยู่รอดร่วมกัน

“Prof Anella, any final words before we close today?” ผู้ดำเนินรายการถาม

โปรเฟสเซอร์ชาวแคนาดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ยิ้มนิดหนึ่ง ก่อนกดปุ่มเปิดไมค์

ซีรีส์ The Day After Tomorrow ของ Asia School of Business ซึ่งวันนี้โฟกัสในหัวข้อ Flatten The Curve, Then What? หลังจากที่โควิดเพลาลงแล้ว โลกจะเป็นอย่างไร? ซึ่งผู้ร่วมสนทนาล้วนเป็นผู้บริหารระดับ Chiefs ทั้งนั้น คน (ตำแหน่ง) ใหญ่ๆ ก็น่าจะพูดเรื่องใหญ่ๆ

“Be generous” เพื่อนอาจารย์ของผมกลับตอบสั้นๆ

เธออธิบายว่า สิ่งที่เราเห็นจากปรากฏการณ์โควิดคือความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ในโลก แม้สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าเกี่ยวกัน ก็เชื่อมถึงกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่น พี่ชายผมรณรงค์มาครึ่งศตวรรษให้รักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยกันลดมลพิษ ฝุ่นควันในอากาศ ขยะในทะเล ปะการังตาย ที่ดูแล้วไม่น่าจะจัดการได้ เจอล็อคดาวน์เข้าไปไม่กี่เดือน ฟ้าใสปิ๊ง ทั้งปลาวาฬ ปลาฉลาม ปลาโลมา กระทั่งพะยูน ก็ออกมาเริงร่าแถวบ้านเพ

คุณ Sayantan Das, Managing Director of Foodpanda ผู้บริหารกิจการรับส่งอาหารและสินค้าชื่อดังเล่าว่า ในช่วงโควิด ร้านอาหารทั่วไปสูญเสียรายได้จากลูกค้าที่เข้ามานั่งใช้บริการในร้านถึง 70% แม้จะมีส่วนการส่งอาหารเดลิเวอรี่มาชดเชยบ้าง แต่ก็ไม่สามารถจะพยุงรายรับจ่ายได้ เพราะมีค่าโสหุ้ยตายตัว เช่น ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ซึ่งไม่ได้ลดลงตามไปด้วย

เท่ากับว่าช่วงโควิดนี้ ยิ่งเปิดร้านก็ยิ่งขาดทุน

หนึ่งในความเสี่ยงของธุรกิจ Platform ผู้จับแพะคือร้านอาหารมาชนแกะคือคนรับประทาน ซึ่งนึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้คือ จำนวนร้านอันเป็นต้นน้ำอาจล้มหายตายจากไปจนทำให้ไม่เพียงพอต่อการเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า แม้ในระยะสั้นจำนวนร้านที่เข้าร่วมธุรกิจเดลิเวอรี่อาจสูงขึ้นถึง 1-2 เท่าตัว แต่ในระยะกลางไม่เกินครึ่งปีหลังนี้ ร้านจำนวนมากที่สายป่านไม่ยาวพอจะจบลงง่าย ๆ ด้วยคำว่า ‘เจ๊ง’ พลอยทำให้ Foodpanda หรือ GrabFood ลำบากไปด้วย

มาตรการที่คุณ Das เล่าให้ฟังคือ ทีมกลยุทธ์ของ Foodpanda คิดถึงแค่ตัวเองไม่พอแล้ว ต้องคิดไกลไปถึงการพยุงให้คู่ค้าคือร้านอาหารเหล่านั้นอยู่รอดได้ด้วย เป็นวิธีทำงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างแท้จริง โปรโมชั่นบางอย่างเช่น no delivery fees เพื่อกระตุ้นให้คนสั่งอาหารจากร้านเล็ก ๆ ที่กำลังลำบาก หรือ no joining fees เพื่อให้ร้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรได้ง่ายยิ่งขึ้น ล้วนเป็นตัวอย่างของกลยุทธ์รวมกันเราอยู่ เช่นนี้

“Be generous” ของอาจารย์ Anella จึงหมายถึงกระบวนการคิดลักษณะนี้ การคิดให้ไกลเกินแค่เอาตัวเองเอาธุรกิจตัวเองให้รอด เพราะผลกระทบของโควิดและโลกหลังยุคโควิด จะเป็นโลกที่มนุษย์ต้องพิจารณาการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริง กำแพงการแข่งขัน ลูกค้า หรือกระทั่งการกีดกันระหว่างประเทศ จะต้องถูกทำลายลงหากเราหวังจะอยู่รอดไปร่วมกัน

“นี่ไม่เป็นเพียงเรื่องใหญ่ๆ ของคนใหญ่ๆ ในองค์กรใหญ่ๆ เท่านั้น เราท่านก็สามารถช่วยได้ด้วยการจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เงินสะพัด แทนการทำอาหารอยู่บ้านเพียงอย่างเดียว ก็สั่งอาหารจากร้าน เงินของเราก็จะช่วยให้คนขายวัตถุดิบ แม่ครัว คนส่งอาหาร คนขายบรรจุภัณฑ์ มีรายได้จุนเจือให้ระบบหมุนต่อไป” เธอสรุปแบบนักเศรษฐศาสตร์เป๊ะ

และคำตอบของอาจารย์ทำเอาคุณ Das แห่ง Foodpanda ยิ้มแก้มปริ

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

System Thinking ตัวอย่างของ Foodpanda ให้แง่คิดกับผมอย่างมาก ประสบการณ์ในโลกของกลยุทธ์ทางธุรกิจ มักเห็นผู้นำคิดถึงการเอาตัวเองและองค์กรให้รอดเป็นหลัก ลูกค้าต้องการอะไร? จะเอาชนะคู่แข่งได้ยังไง? จะต่อรองราคาคู่ค้าได้แค่ไหนเพื่อเพิ่มผลกำไรสูงสุด? แต่ยุคโควิดนี้ทำให้เกิด accelerator ทางความคิดให้ครอบคลุมกว้างกว่าเดิมมากขึ้น ใครอยู่ใน Ecosystem ของเรา และจะช่วยกันและกันได้อย่างไรเพื่อให้ทุกคนเดินต่อได้

Platform Strategies หัวข้อต่อไปใน Covid-19 Leadership Series ของ ASB จะคุยต่อเรื่อง Platform มีตัวแทนจากองค์กรแถวหน้าเช่น Fave Group และ China Construction Bank มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาจารย์ Melati ผู้สอนเรื่อง Platform Strategies จะเป็นผู้ดำเนินรายการ แพลตฟอร์มคืออะไร? แตกต่างและมีประโยชน์กว่าการทำธุรกิจแบบเดิมอย่างไร? ที่สำคัญการใช้โมเดลลักษณะนี้ จะช่วยโลกช่วยมนุษย์ในการรับมือกับโควิดได้อย่างไร?

ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้บ้างแล้วใต้หัวข้อ Collaborative Economy เป็นการใช้หลักการร่วมด้วยช่วยกัน ประยุกต์กับ excess capabilities มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์ยาก ๆ ด้วยทางออกง่าย ๆ จึงตื่นเต้นมากที่จะได้เรียนรู้ในวันนี้ (20 พ.ค.)

ใครสนใจอยากแวะมาฟัง เชิญลงทะเบียนได้ที่ https://asb.edu.my/executive-education โดยไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ