เมื่อดีกรีความงามนำหน้าดีกรีหมอ...
ข่าวสารดีกรีความงามระดับนางสาวไทยของผู้ช่วยโฆษกฯ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดดเด่นเหนือดีกรีแพทย์อย่างเห็นได้ชัด
ตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน
ทั้งโฆษกฯและผู้ช่วยโฆษกฯเป็นแพทย์อาชีพ โฆษกฯเป็นจิตแพทย์ ส่วนผู้ช่วยโฆษกฯเป็นแพทย์ปฏิบัติการด้านใดนั้นข่าวสารคนทั่วไปได้รู้และเข้าถึงจนบัดนี้ยังไม่ปรากฏ ที่รับรู้เข้าใจกันนอกจากดีกรีนางงามก็คือ ผู้ช่วยโฆษกฯเป็นเจ้าของคลินิกความงาม
มีอานุภาพยิ่งนัก ความงามของสตรี ประชาชีย่อมอยากเห็น
เมื่อได้ยลแล้ว จะถึงขนาดแข็งเป็นหินแบบในเทพปกรณัม ตะวันตก หรือหลงใหลจนสติไม่อยู่กับตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ เช่น ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง กระทั่งทำให้หญิงเจ้าของความงามและชายผู้หลงใหลประสบโศกนาฎกรรมต่างนานา เช่น พระเพื่อนพระแพงกับพระลอในเรื่องพระลอ นางมัทนากับท้าวชัยเสนในมัทนพาธา
หญิงงามเป็นเหตุสงครามแย่งชิงบ้านเมืองวอดวาย คนตายเป็นเบือ มีในตำนานทั้งตะวันออก ตะวันตก เช่น นางเฮเลนแห่งทรอย พระรามกับทศกัณฐ์รบกันจนเป็นมหากาพย์ก็เพราะความงามของนางสีดานั่นแหละ
แพทย์ความงามนั้นรู้กันดีตั้งแต่สมัยเลือกวิชาเรียนขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ว่าสามารถกำหนดเวลาทำงานแน่นอน แทบจะไร้สถานการณ์เร่งด่วน และ “ฉุกเฉิน” ต่างจากแพทย์ด้านอื่นที่งานประจำวันมีโอกาสเกิดสถานการณ์ “เร่งด่วน” “ฉุกเฉิน”มากกว่า เช่น สูติกรรม ทันตกรรม ศัลยกรรม จิตเวช(ซึ่งมีแผนกจิตเวชฉุกเฉิน) ฯลฯ นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังมีเวชศาสตร์ฉุกเฉิน(emergency medicine)มีแพทย์ไทยด้านนี้300-400 คน จัดว่ายังขาดแคลนอยู่
ในทางธุรกิจ“ความรู้สึกเร่งด่วน” (sense of urgency) หมายถึง ความสามารถสื่อสารถึงตัวบุคคลหรือทีมหมู่คณะทำงานให้รับรู้เข้าใจอย่างเฉียบขาดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระทำการใดอย่างฉับพลันทันการและช้าไม่ได้ ซึ่งในด้านการตลาดและการขายก็สำคัญมาก เป็นคุณลักษณะสำคัญด้วยอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำและการบริหาร
ในการปฏิบัติงานแทนของผู้ช่วยโฆษกฯวันหยุดที่ผ่านมา สิ่งที่ลดลงทันใดจากที่เคยสัมผัสได้จากโฆษกฯ เป็นเวลากว่า 2 เดือนคือ ความรู้สึกเร่งด่วนที่รับรู้ได้จากเนื้อหาสาระ ภาษาพูดและภาษากาย
โฆษกศบค.เป็นงานเฉพาะกิจ ผู้ฟังใจจดใจจ่อ อยากรู้สาระสำคัญทันทีมากกว่าการติดตามข่าวสารตามปกติจากโฆษกหรือพิธีกรทั่วไป คล้ายๆ เวลามีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเช่น ปฏิวัติรัฐประหาร ภัยพิบัติ ดาราหรือบุคคลสาธารณะไปเจ็บป่วยอยู่ที่ไหนและแพทย์ตั้งโต๊ะแถลงการณ์เฉพาะกิจ ทั้งผู้สื่อข่าวผู้ฟังใจจดจ่อเนื้อหาสาระไม่ว่อกแว่กแบ่งความสนใจไปจุดอื่นแทบไม่สนใจว่าใครเป็นโฆษก ชื่ออะไร หน้าตาอย่างไร
ในข้อนี้ โฆษกศบค. “ได้คะแนน ”เต็มร้อยตั้งแต่แรก ไม่มีใครสนใจชื่อหรือดูความหล่อ มีดีกรีประสบการณ์อะไร ไร้ผู้บังคับบัญชาแสดงตน สื่อบางแห่งเรียกโฆษก “หน้าตี๋” “ตาตี่” กระทบชาติพันธุ์ด้วยซ้ำ มีชื่อเล่นก็ไม่มีใครสนใจ จึงอดทนสร้างผลงานปฏิบัติการจนเข้าหูโดนใจอย่างยิ่ง มีแม่ยก พ่อยก เต็มบ้านเต็มเมือง จนคนที่ไม่รู้จักชื่อนี้ก็ต้องทำความรู้จัก
นอกจากมีฐานวิชาชีพแพทย์รับมือสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉินซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ โควิด-19 ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอย่างยิ่ง มีหลักวิชาจิตแพทย์สื่อสารเข้าถึงคน ศึกษาเนื้อหาสาระติดตามข่าวสารอย่างดีมาก สามารถพุ่งเป้าไปที่สาระสำคัญทันสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉิน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวันก่อนๆ
ภาษาของโฆษกฯ แม้เป็นทางการและวิชาการ เป็นคำสั่งด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ด้วยพื้นฐานความรู้สึกห่วงใยแบบหมอผู้ต้องการรักษาป้องกันโรคซึ่งโดยปกติเมื่อมีคนป่วยหรือมีโอกาสจะป่วยก็ย่อมรู้สึกเร่งด่วนอยากหายเร็วๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย ภาษาทางการของโฆษกฯ จึงผสมผสานแฝงความเป็นภาษาพูดโดยตลอด เสมือนพูดตัวต่อตัวกับคนไข้เพื่อสื่อสารให้รู้เร็วเข้าใจเร็วและหายเร็ว ทั้งที่กำลังสื่อสารกับสาธารณชนอยู่แท้ๆ
แม้อ่าน “แถลงการณ์” ภาษาอ่านของโฆษก ฯ มีท่วงท่าจังหวะจะโคนคล้ายภาษาพูด ใบหน้าแววตาภาษากายที่ผ่อนคลาย ออกจะยิ้มๆ อยู่ในที โดยไม่ต้องพยายามฉีกยิ้มแบบนางงามหรือโฆษกพิธีกรคนอื่น ประกอบกับบุคลิกเรียบๆ มีราศีของ “หมอ” มาก่อนดีกรีความหล่อ คนฟังพร้อมจะฟังและเชื่อ อีกทั้งมีเสียงทุ้มซึ่งหากนำไปวัดคลื่น น่าจะเป็นคลื่นเสียงต่ำที่ส่งผลให้ผู้ได้ยินรู้สึกสบายที่จะติดตามฟังได้นานกว่าเสียงแหลม หรือเสียงแหบ (หนังสารคดีมีบรรยาย มักใช้เสียงผู้ชาย ถ้าเป็นเสียงผู้หญิง จะเลือกเสียงไม่สูงค่อนไปทางต่ำหรือระดับเสียงกลาง)
จึงช่วยไม่ได้เลยที่สำหรับผู้ช่วยโฆษกฯในการปฏิบัติงานแทน การส่งการรับสาระสำคัญจึง “เสียคะแนน ”ไปหลายเพราะ ผู้ฟัง(แม้ตัวผู้เขียนเอง)เสียความตั้งใจส่วนหนึ่งไปกับจำชื่อจริงชื่อเล่นและพินิจโฉม ทั้ง ๆที่เสื้อผ้าหน้าผมผู้ช่วยโฆษกฯจัดมาเรียบและธรรมดามาก
อาจเพราะยังใหม่ ผู้ช่วยโฆษกฯมีลักษณะอ่านมากกว่าพูด มีระดับเสียงสูงกว่าโฆษกฯ เมื่อใช้คำว่า "นะคะ นะคะ "ลงท้ายบ่อยมาก อาจเพื่อช่วยให้เป็นภาษาพูด แต่นอกจากสร้างความรู้สึกไม่ชัดเจน เพราะคำนี้ใช้ได้ทั้งประโยคบอกเล่า คำถาม ตอบรับ หรือเพื่อความสุภาพ ( "ไปละนะคะ โอเคนะคะ เอาอย่างนี้นะคะ ") ยังเป็นการสร้างเสียงสูงมากกว่าใช้คำว่า "ค่ะ"
ถ้าโฆษกฯใช้คำว่า “นะครับ นะครับ”ลงท้ายบ่อย ๆ ความรู้สึกผู้ฟังคงเปลี่ยน เช่น ความชัดเจนลดลง รู้สึกถึงความสุภาพพร่ำเพรื่อ เป็นต้น
ความงามอาจทำให้ผู้หญิงเก่งทะลุทะลวงอุปสรรคในหน้าที่การงานได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะ“เพดานแก้ว” (glass ceiling คือ เพดานหรือระดับที่ผู้หญิงทำงานคนหนึ่งจะสามารถขึ้นถึง ) แต่ก็อาจทำให้ “เสียคะแนน”อย่างคาดไม่ถึงเช่นนี้ เพราะชวนให้เปรียบเทียบกับผู้ปฏิบัติงานได้ดีมากมาก่อนหน้าสดๆร้อนๆ
พอจะแสดงถึง“กึ๋น”ของผู้บังคับบัญชาผู้ชายที่ปรารถนาดีให้โอกาส แต่กลายเป็นให้บททดสอบที่ยากกว่าปรกติไปเสียนี่ !