โควิด 19 – ให้เงินแล้ว ให้ความรู้และงานด้วย
เดือนมีนาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน มีคนตกงานไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านคน
เป็นคำแถลงของคุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ซึ่งตัวเลข 6.5 ล้านมาจากการประมาณการณ์ว่า เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2.75 ล้านคน เป็นลูกจ้างจากร้านค้า ร้านอาหารในห้างที่ถูกปิดกิจการชั่วคราวโดยคำสั่งของรัฐ ประมาณ 1 ล้านคน ร้านค้าย่อย 8.4 แสนคน แผงลอย 9หมื่นคน ร้านนวดแผนโบราณ ร้านเสริมสวย 3.7 แสนคน ร้านอาหาร 2.1 แสนคน แรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ปิดชั่วคราวหลายแสนคน แรงงานเด็กจบใหม่ 5 แสนคน คนตกงานสะสมเดิม 4 แสนคน” (ข้อมูลจาก นสพ. มติชน วันที่ 5 เมษายน 2563) แต่ในระยะยาวมันก็คงไม่เพียงพอ คงช่วยกันไม่ไหว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและพวกเราหลายๆคนต้องช่วยกันระดมสมองช่วยคิดหาหนทางให้ผู้ตกงานได้มีหนทางประกอบอาชีพกันเดี๋ยวนี้เลย
ในบรรดาผู้ที่ตกงานเหล่านี้ แม้ว่าบางท่านจะได้รับเงิน 5,000 บาทมาช่วยเยียวยาบ้างแล้ว และหลังการลงทะเบียนกลุ่ม “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 5,000 บาท รัฐบาลได้ขยายโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย สรุปคือจะมีคนไทยได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 15,000 บาทจำนวน 14 ล้านคน เป็นยอดเงิน 2.1 แสนล้านบาท ทั้งนี้จากการติดตามข่าวมีผู้เดือดร้อนลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือประมาณ 29 ล้านคน คิดง่ายๆว่าเป็น 43.9% ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ (66 ล้านคน) ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง เมื่อดิฉันได้เห็นตัวเลขผู้ลงทะเบียนมากถึงขนาดนี้ ดิฉันรู้สึกวิตกมากว่าประชากรเกือบครึ่งของประเทศไทยไม่มีความมั่นคงทางการเงิน จำนวนมันมากเกินไปค่ะ ที่ตั้งใจอยากนำเสนอหนทางทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอดในช่วงโควิด 19 ระบาด เพราะถ้าจะรอจนควบคุมโรคได้ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเมื่อไร
ทัศนะคติและทักษะที่แรงงานยุคโควิด-19 พึงมี วิกฤตินี้ทำให้มีผู้ตกงานทั่วโลก ดิฉันทำการสำรวจข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศออกมาเสนอแนะว่าแรงงานยุคโควิด-19 ควรต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างที่จะช่วยรักษางานได้นาน หรือถ้ากำลังตกงานก็จะสามารถหางานได้ง่ายขึ้น และได้พบว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร สรุปได้ว่าผู้ที่สามารถหางานได้ไม่ยาก จะต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้องก่อน เป็นคนที่เปิดใจกว้าง ไม่ติดกรอบ ปรับตัวง่าย ยินดีเรียนรู้และทำในสิ่งใหม่ๆ (Adaptability and flexibility) มีความคิดเชิงวิเคราะห์แก้ปัญหา (Critical thinking) รู้จักนำข้อมูล มาใช้วิเคราะห์ (Data literacy) ประกอบการตัดสินใจ มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานและใช้ฟังก์ชั่นต่างๆในมือถือเป็น (Tech savviness) เช่น รู้จักการหาข้อมูล ส่งไฟล์ข้อมูล ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางมือถือเป็น เป็นต้น
คุณสมบัติข้อสุดท้ายก็คือ ฝักใฝ่สนใจเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะโลกการทำงานได้ถูกโควิด- 19 เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผู้ที่ขาดทักษะด้านคอมพิวเตอร์และปฎิเสธการเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์จะอยู่ได้ยากมาก เพราะงานทุกแผนก เช่นการตลาด การเงินและบัญชี การบริหารบุคคล การผลิต ฯลฯ ล้วนนำเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์มาใช้ทั้งสิ้น หากรักจะทำงานไปได้นานๆ ต้องเรียนรู้ทักษะดิจิทัลค่ะ
เร่งแสวงหาสถาบันที่ฝึกวิชาชีพให้ฟรี ในช่วงนี้ได้ 5,000 บาทจากรัฐบาลมาซื้อข้าวกินแล้ว อย่ามัวรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียว รีบไปเรียนฝึกอาชีพฟรีดีกว่า ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดคอร์สให้เรียนออนไลน์ฟรีถึง 15 อาชีพ ได้แก่ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างซ่อมเครื่องรับโทรทัศน์ การตรวจซ่อมโน้ตบุ๊คและไมโครคอมพิวเตอร์ การประกอบอาหารไทย ช่างขับรถยก ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ อาชีพอิสระ (วิธีทำดอกไม้จันทน์ (ดอกดารารัตน์) / วิธีการปั้นโอ่งซีเมนต์ / การผนึกรูปภาพบนชิ้นงานไม้) ช่างพ่นสีรถยนต์ ช่างไฟฟ้าอาคาร ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://eit.dsd.go.th/dsdtraining.php
ถ้ามีความสามารถในการซ่อมและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ เชื่อว่าประเทศเมืองร้อนอย่างเรา น่าจะมีงานล้างแอร์ซ่อมแอร์ให้ทำไม่ว่างมือ อีกทั้งช่วงนี้มีการสั่งอาหารและสินค้าให้ส่งตามบ้านมาก คนใช้มอเตอร์ไซค์มีมาก การให้บริการซ่อมมอเตอร์ไซค์ก็น่าจะมีให้ทำมากอยู่นะคะ ที่จริงผู้ที่จบปริญญาตรีถ้าไม่ถือตัวถือตนก็ไปเรียนวิชาช่างต่าง ๆได้ เริ่มจากเข้าไปช่วยงานตามร้านต่างๆที่มีหัวหน้าช่างอยู่แล้ว พอชำนาญก็ค่อยเปิดร้านรับซ่อมเอง ซึ่งเป็นงานอิสระและมีความต้องการมากทีเดียวในตลาด ส่วนผู้ที่สนใจการทำอาหาร สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เปิดคอร์สสอนทำอาหารออนไลน์กว่า 20 เมนู โดยสามารถเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องสมัครสมาชิกหรือลงทะเบียนเพราะจะสอนผ่าน Facebook Live และ YouTube ของสถาบันคือ www.facebook.com/ChitraladaTechnologyInstitute เชื่อว่ายังมีอีกหลายสถาบันที่เปิดสอนวิชาชีพต่างๆให้ฟรี ดูแล้วน่าเรียนอยู่หลายวิชาชีพที่สามารถหางานได้เกือบจะทันทีในตลาดงานบ้านเรา นี่คือสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนพึงรีบทำในเวลานี้เพื่อหางานสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด
สำหรับคนที่ยังไม่อยากเรียน อยากหางานด่วนๆๆ ตามที่ได้จับตาดูชีวิตประจำวันของคนไทยที่ต้องทำงานจากบ้านบวกกับความกลัวที่จะเชื้อโรคจากการไปจับจ่ายซื้อของตามร้านค้าที่มีคนมากมาย พฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมการสั่งซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆออนไลน์ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นเจ้าของกิจการที่ส่งอาหารและส่งสินค้าถึงบ้านจึงต้องการแรงงานคนส่งของเป็นจำนวนมากทั้งชายหญิง สำหรับคนที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ได้ก็มีทางเลือกเพราะกิจการเหล่านี้ต้องการคนปรุงอาหาร พนักงานเช็คสต็อค จัดเรียงสินค้า ส่วนธุรกิจค้าปลีกจำพวกร้านสะดวกซื้อที่มีผู้บริโภคนิยมไปซื้ออาหารและของใช้ประจำวันก็มีความต้องการพนักงานในหลายตำแหน่ง เช่น แคชเชียร์ พนักงานเช็คสต็อคและจัดเรียงสินค้า งานเหล่านี้บรรดานิสิตนักศึกษาที่แสวงหางานพาร์ทไทม์น่าจะมีความสนใจ
นอกจากนี้งานที่ต้องการแรงงานที่มีสุขภาพดี สะอาด มีน้ำใจ ก็คืองานดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย และงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ประเทศไทยเรากำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ นับวันยิ่งต้องการแรงงานมืออาชีพที่จะดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้นทุกทีๆ งานนี้ค่าแรงดีค่ะ อย่างต่ำวันละ 800 บาท ยิ่งถ้าคนมีประสบการณ์ได้ถึงวันละ 1,200-1,500 บาท นอกจากนี้คนที่มีความรู้ด้านภาษา คณิตศาสตร์ยังสามารถรับเป็นครูสอนพิเศษตามบ้านหรือทำออนไลน์ เพราะโรงเรียนยังปิดเทอมอยู่ ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนพิเศษ รีบโฆษณาตัวเองตามโซเชียลมีเดียได้เลยค่ะ
รัฐบาลและภาคเอกชนให้เงินแล้ว ควรให้งานด้วย เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลได้จัดงบประมาณให้เงินเยียวยาผู้เดือดร้อน รวมทั้งการที่ภาคเอกชนและบุคคลมีน้ำใจมาบริจาคอาหารข้าวของต่างๆให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้เดือดร้อน ถือว่าเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วน แต่ในระยะยาวที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต้องถดถอยแน่ เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังคิดที่จะออกนโยบายและโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ตกงานเพราะโควิด-19 และเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามดิฉันอยากให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือช่วยกันเร่งคิดแผนงานและโครงการที่จะพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ตกงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งภาคเอกชนและสถานศึกษาน่าจะช่วยได้มากในเรื่องของการสร้างคอร์สฝึกอบรมความรู้และทักษะที่องค์กรธุรกิจต้องการในช่วงเกิดโรคระบาดและหลังโรคระบาด
พูดง่ายๆก็คือขาดแรงงานด้านไหน ก็ให้เปิดฝึกอบรมด้านนั้น เพราะการฝึกอบรมนี้ยังจะเป็นประโยชน์แก่ภาคเอกชนที่ต้องการแรงงานด้านต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย ให้เงิน ให้ความรู้และให้งาน จะช่วยแก้ปัญหาคนตกงานได้อย่างยั่งยืน ช่วยกันสร้างประเทศไทยให้แข็งแรงค่ะ