Hybrid Training สิ่งใหม่ในยุคหลังโควิด
ไม่ว่าจะเป็นงานเดิม หรืองานใหม่ ในท้ายที่สุดของตัวชี้วัดความสามารถการแข่งขัน ผลิตภาพหรือ Productivity ยังเป็นตัวหลักของทุกธุรกิจ
องค์กรใดที่การดำเนินงานภายในไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิผล ย่อมไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ และต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด ในขณะที่องค์กรที่มีผลิตภาพสูง มีระบบที่ดีมีมาตรฐาน กระบวนการภายในใช้ทรัพยากรต่างๆให้เกิดประโยชน์ โดยไม่มีความสูญเปล่าสิ้นเปลือง และผลผลิตที่ได้มีประสิทธิผลตรงตามสเปคหรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เมื่อเจอวิกฤตจะสามารถหยุดยั้งและรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยผ่อนจากหนักเป็นเบา และเมื่อถึงวันที่สภาพเศรษฐกิจและธุรกิจกลับฟื้นคืนมาใหม่อีกครั้ง ก็จะสามารถก้าวเดินได้ในทันที เรียกว่าพื้นตัวเร็วกว่าคนอื่น การปรับปรุงผลิตภาพที่เคยคิดแต่ไม่ได้ทำในช่วงเวลาปกติ ในช่วงนี้ที่ทุกคนเริ่มว่างและมีเวลา ถ้าช่วยกันอุดช่องว่าง ลดช่องโหว่ เสริมเติมสิ่งที่ขาด และปรับเปลี่ยนสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิมเข้าไปในกระบวนการได้ จะเป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ที่ดีที่สุด
ดังนั้นในขณะที่ทุกคนต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด Covid-19 นั้น จะเห็นว่าสิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทันทีคือ ทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีดิจิทัล ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่ยังปฏิเสธถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียนการสอน การทำงาน การประกอบกิจการ การทำธุรกิจ แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่า อยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ตราบใดที่เรายังมีสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต เราก็สามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้ บางทีค้นพบว่าสะดวกกว่าตอนไม่ใช้มันเสียอีก แต่แน่นอนมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ยังคงต้องการการพบเจอและรวมกลุ่ม การสื่อสารทางไกลในโลกไซเบอร์จึงไม่ใช่การแทนที่ แต่เป็นการเติมเต็มมากกว่า
แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยและท่องอินเทอร์เน็ตอย่างเมามันวันละหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ใช้ในการพิมพ์ข้อความโต้ตอบ สนุกสนานจากการเล่นเกมส์เพื่อผ่อนคลาย และหาความสำราญจากความบันเทิงที่หลากหลาย แต่เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน ความกังวลใจต่อความก้าวล้ำนำหน้าจนทำอะไรหลายอย่างได้ดี ได้ในปริมาณมาก รวดเร็ว และมีข้อผิดพลาดน้อยกว่าที่คนทำ จนก่อให้เกิด “ความกลัว” และกลายเป็นแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในหลายองค์กรเมื่อก่อนมีโควิด ไม่ว่าจะกลัวการสูญเสียงาน กลัวสูญเสียความสำคัญ หรือเลยไปจนถึงการสูญเสียธุรกิจที่ทำอยู่ก็ตาม
แต่ทว่าความกลัวของคนส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ กำลังจะเปลี่ยนเป็นความกล้า สิ่งที่กังวลเมื่อก่อนหน้านี้ได้พิสูจน์ตัวตนของมันให้เห็นแล้วว่า ถ้าเราจัดการมันได้และรู้เท่าทันที่จะนำมันมาใช้ประโยชน์ เมื่อภาพมุมลบที่เรามองดิจิทัลได้แปรเปลี่ยนเป็นมุมบวก เชื่อว่าองค์กรต่างๆหลังจากนี้ จะลุกขึ้นมาปัดฝุ่นแผนงานโครงการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น คำว่า Digital Organization จะกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญขององค์กร เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ผู้ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ไม่ใช่ CEO และไม่ใช่ CIO แต่หากเป็น COVID ต่างหาก ทำให้ทุกคนเห็นพ้องตรงกันว่า ต่อไปนี้ต้องใช้มันพัฒนาธุรกิจ
เมื่อทัศนคติและชุดความคิดของคนในองค์กรเปลี่ยน แรงต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงก็จะน้อยลง Digital Transformation จะกลับมาเป็นกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่ E-Business อีกครั้ง
สิ่งที่องค์กรต้องทำหลังจากนี้คือ นอกจากปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในให้เป็น Digital process ต้องเพิ่มเติม Digital skill ในส่วนของพนักงานด้วย และไม่มีอะไรดีไปกว่าการฝึกฝนจนชำนาญ
ดิจิทัลไม่ต่างจากการว่ายน้ำ ต่อให้เรียนรู้ทฤษฎี หลักการมากมายเพียงใด ตราบใดที่เราไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ย่อมไม่เข้าใจ และเมื่อใช้มันบ่อยครั้งก็จะเกิดความชำนาญในที่สุด ใช่มันไม่ง่ายเลย สำหรับครู อาจารย์ วิทยากร ที่ปรึกษา และผู้บรรยายให้ความรู้ ก่อนหน้านี้มีน้อยมากที่จะใช้ซอฟท์แวร์ แอพ หรือดิจิทัลในการสื่อสาร พูดคุย และถ่ายทอดทางไกล การเรียนและการประชุมในห้องแบบพร้อมหน้าพร้อมตาดูเหมือนเป็นวิธีที่เราใช้กันเป็นหลัก แต่หลังจาก COVID-19 ทุกคนเริ่มเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ
พัฒนาการของเครื่องมือดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารแบบระยะไกลไร้พรมแดนนี้ ได้เปลี่ยนบทบาทจาก VDO Call เพื่อการประชุมทางไกล กลายเป็น VDO Communication เพื่อการสื่อสาร ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถมากขึ้น ที่สำคัญคือรองรับการเรียนทางไกลได้อย่างดี กลุ่มผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมที่เคยปฏิเสธการเรียนออนไลน์มาก่อน ก็รู้สึกคุ้นชินและเห็นประโยชน์มันมากขึ้น มีการคาดการณ์กันว่าจะไม่เปลี่ยนเป็น E-Learning ทันทีแบบ 100% ทั้งหมด
แต่หลังจากนี้รูปแบบการบรรยายจะเป็นไปเป็นลักษณะที่เรียกว่า Hybrid Training คือผสมผสานทั้ง (1) On-line ทุกคนอยู่ในที่ตั้ง นั่งอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ (2) On-ground (On tour) โดยนัดผู้เรียนมารวมตัวกันในสถานที่หนึ่งเพื่อมาศึกษาดูงาน ณ สถานที่จริง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำกิจกรรมร่วมกัน (3) On-site การเข้าไปให้คำแนะนำ แก้ปัญหา ณ สถานที่และพื้นที่ปฏิบัติงานจริงของผู้เข้าเรียน และ (4) On demand ตอบสนองทุกความต้องการที่หลากหลายให้ผู้เรียนที่มีความต้องการที่แตกต่างสามารถเลือกได้ทั้งเนื้อหา และเวลาที่สะดวก
รูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ จะทำให้ทุกคนมีทักษะความสามารถที่เปลี่ยนไป ทักษะความสามารถใหม่ที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการในอนาคต (Skill for Future) จะถูกบรรจุเข้าไว้ในแผนงานการพัฒนาบุคลากร เมื่อรูปแบบการเรียนรู้ใหม่เกิดและนำมาใช้มากขึ้นในองค์กร จนเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จะเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมาโดยอัตโนมัตินั่นคือ Digital culture หนึ่งในวัฒนธรรมใหม่นี้คือ วัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่เกิดจากการกระทำซ้ำๆ จนกลายเป็นรูปแบบหลักขององค์กรในที่สุด