แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย(จบ)
หลังจากที่ได้นำเสนอการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ของประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย จากเนื้อหาที่เหลือ
3.ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย
o ก่อนกฎหมายบังคับใช้
1.ร่วมกับภาครัฐในการศึกษาประเมินค่าใช้จ่ายในการจัดการ (ค่ารวบรวมขนส่ง, ค่าถอดแยก, ค่ารีไซเคิลและค่ากำจัดของเสีย) และศึกษาแนวทางการดำเนินการ
2.ศึกษาและดำเนินการสำหรับการจัดทำระบบมัดจำค่าใช้จ่ายในการจัดการซาก (Deposit & Refund system)
3.ร่วมกันจัดตั้งองค์กรกลาง ซึ่งรวมถึงการประเมินจำนวนเงินลงทุนเริ่มแรกที่จะต้องจ่ายให้กับองค์กรกลางสำหรับ จัดซื้อกระบะที่ใช้ในการจัดเก็บและขนส่ง, ค่าใช้จ่ายในการจัดทำซอฟต์แวร์, บุคลากร และเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
o หลังกฎหมายบังคับใช้
1.ชำระค่าใช้จ่ายในการขนส่งให้กับองค์กรกลางตามยอดการขนส่งจริง
2.ชำระค่าใช้จ่ายในการถอดแยกให้กับโรงงานถอดแยกตามยอดการถอดแยกจริง
3.ให้ข้อมูลด้านการจำหน่ายรายเดือนในหน่วยน้ำหนักให้กับองค์กรกลาง
ในกรณีที่ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่ายประสงค์จะดำเนินการเอง (ไม่ร่วมกับองค์กรกลาง) ให้ส่งรายงานโดยตรงที่หน่วยงานราชการ
3.ประชาชน
o ก่อนกฎหมายบังคับใช้
1.ร่วมกับภาครัฐและผู้ผลิตในการให้ความเห็นต่อร่างแนวทางการจัดการซาก เพื่อพัฒนาแนวทางในการจัดการ
o หลังกฎหมายบังคับใช้
1.ส่งซากที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปยังศูนย์รวบรวมซากเพื่อรับเงินมัดจำคืนหรือนำไปเปลี่ยนเครื่องใหม่โดยได้ส่วนลดจากเงินมัดจำ
2.ซากที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน (ซากที่ไม่มีบาร์โค้ดหรือไม่ได้มัดจำ) ให้นำไปรับส่วนลดในการเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมโครงการ
4.ผู้ถอดแยกในปัจจุบัน
o ก่อนกฎหมายบังคับใช้
1.ร่วมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์โดยให้หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการจัดตั้ง สหกรณ์มีหน้าที่จัดเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ควบคุมมลพิษ เช่น เครื่องดูดสารทำความเย็น น้ำมันปนเปื้อน และทำหน้าที่แจกจ่ายซากที่ผ่านการแยกมลพิษแล้วไปถอดแยกต่อที่บ้าน มลพิษที่ถูกแยกจะถูกรวบรวมไปจัดการที่โรงงานรับจัดการของเสียที่ถูกต้องตรวจสอบได้ ผู้ถอดแยกในปัจจุบันจะได้รายได้เป็นค่ารับจ้างถอดแยกและค่าขายวัสดุรีไซเคิลซึ่งจัดสรรโดยสหกรณ์
2.นำสหกรณ์มาขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานถอดแยกกับหน่วยงานราชการและองค์กรกลาง
o หลังกฎหมายบังคับใช้
1.สหกรณ์จะเป็นผู้รับซากจากศูนย์รวบรวมซากโดยการจัดสรรโดยองค์กรกลาง รายได้จากการถอดแยกหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงการจำหน่ายวัสดุที่รีไซเคิลได้
ในความเห็นของผู้เขียน นอกเหนือจากกฎหมายที่จะต้องออกมาเพื่อสะท้อนรูปแบบในการทำงานจริงโดยแยกหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ออกจากผู้ปฏิบัติงาน (Operator) หรือในที่นี้คือองค์กรกลางให้ชัดเจน ในขณะเดียวกัน ขีดความสามารถของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล (Regulator) ควรที่ได้รับการพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบัน กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็น Regulator ซึ่งต้องการกำลังคนเป็นจำนวนมากในการจัดการการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย และควบคุมการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องพิจารณาจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อรับผิดชอบด้านการจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร (Circular Economy) ซึ่งรวมการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ด้วย หน่วยงานนี้จะต้องขยายขอบเขตในอนาคตไปควบคุมการจัดการซากผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ซากรถยนต์ ซากแบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้แล้ว เป็นต้น รวมถึงการควบคุมการจัดการขยะที่ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานส่วนท้องถิ่น
หากนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงการทำงานของคณะกรรมการกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรอิสระสังกัดกระทรวงพลังงาน ที่ทำหน้าที่เป็น Regulator สำหรับกิจการด้านพลังงานทั้งหมด
หน่วยงานนี้จะมีรูปแบบในการทำงานเช่นกันคือเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ที่รับผิดชอบด้านการจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากรของประเทศ ซึ่งในการทำงานจะเป็นการแยกหน้าที่จากผู้ปฏิบัติงาน (Operator) เช่น หลุมฝังกลบขยะชุมชนของเทศบาล หรือในที่นี้คือองค์กรกลางในการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างชัดเจน
โดย... พูนศักดิ์ จันทร์จำปี