อย่าปล่อยให้ อสมท ถูกปล้นกลางแดด!
ปรากฏการณ์กระทำการอันส่อ “มิชอบ” ด้วยกฎหมาย และเบียดบังผลประโยชน์อันควรได้ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 3.2 พันล้านบาท
จนกระทั่งเกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่ประชุมคณะกรรมการ อสมท เมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา และนำไปสู่การลาออกของกรรมการถึง 3 คน
รวมทั้งการยื่นเหตุในหนังสือลาออก ไม่เห็นด้วยกับที่ผู้บริหาร ไปสมยอมให้ กสทช. แบ่งครึ่ง ค่าชดเชย เวนคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิร์ต ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ ที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่ปกติกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสอบสวน และเอาผิดต่อการกระทำที่ส่อไปในทาง “ไม่สุจริต” ครั้งนี้
การกล่าวอ้างการรับมอบอำนาจโดยมิชอบ ทั้งที่การมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้กระทำการใดๆ จะต้องมาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเท่านั้น แต่การที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท นายเขมทัตต์ พลเดช ทำหนังสือ ถึง กสทช. อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากประธานกรรมการ เสนอให้ กสทช. แบ่งเงินเวนคืนให้ อสมท กับบริษัทเอกชนในอัตรา 50 : 50 หรือฝ่ายละ 1,600 ล้านบาทนั้น ส่อว่าเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
กรรมการบริษัท ที่ทำหน้าที่ทักท้วงในที่ประชุมกรรมการ และทำหนังสือทักท้วงไปยัง กสทช. ได้แสดงตนในการปกป้องผลประโยชน์ของ อสมท และได้แสดงให้เห็นว่าไม่เห็นด้วย รวมทั้งคัดค้านการกระทำที่ส่อว่าอาจจะขัดกับกฎหมาย นั่นคือความรับผิดชอบที่ดี ในฐานะกรรมการขององค์กร รวมทั้งการลาออกจากหน้าที่ เพราะไม่ต้องการ “ร่วมสังฆกรรม”กับการพยายามเบียดบังผลประโยชน์ของ อสมท ไปให้เอกชน และอาจจะมีเงินทอนไปให้ “ผู้บงการ” จำนวนมหาศาล
ส่วนกรรมการที่ร่วมกระทำการ และกรรมการที่นั่งเงียบเป็น “เป่าสาก” ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการ หากผลพิสูจน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้ว่า การกระทำครั้งนี้ผิดต่อกฎหมาย บรรดากรรมการเหล่านี้จะตกเป็น “จำเลย”ไปด้วย รวมทั้งกรรมการ กสทช. ที่ไปมีมติ แบ่งเงินให้เอกชน ทั้งที่ไม่มีอำนาจ เพราะจะต้องเอาผลประโยชน์ทั้งหมดให้เจ้าของคลื่นเดิม คือ อสมท ส่วน อสมท จะไปชดเชยให้ผู้เช่าเท่าไหร่ หรือไม่ เป็นเรื่องของ อสมท ไม่ใช่ หน้าที่ของ กสทช. จึงเห็นได้ว่ามติของ กสทช. ที่ผ่านมา ”ไม่เอกฉันท์” มีกรรมการบางท่านคัดค้านเช่นกัน
มีความพยายามเดินหน้าในขบวนการแบ่งผลประโยชน์ 1,600 ล้านบาท ให้เอกชน เพราะมีข่าวว่า “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ที่มีอักษรย่อว่า “พ” ซึ่งเป็นญาติสนิท ผู้มากบารมีในรัฐบาล กำลังจัดสรรผลประโยชน์ก้อนโต ในสัดส่วน 50 : 50 ในเงินที่ได้รับจัดสรร 1,600 ล้านบาท
เมื่อลุงตู่ พลงอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามคำร้องเรียนของสหภาพแรงงาน บริษัท อสมท ก็ขอให้ตรวจสอบอย่างจริงจัง อย่าเกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้กระทั่งผู้มากบารมีในรัฐบาล
เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ จะต้องเอาจริงเอาจังในการสั่งการตรวจสอบ และเอาผิด อย่าให้ความพยายาม “ปล้นกลางแดด” ครั้งนี้ ลอยนวล!