วิธี DIY คลายกังวลยุคโควิด 19

วิธี DIY คลายกังวลยุคโควิด 19

ในคืนที่มืดมิด..แสงจากหิ่งห้อยตัวกระจิริด ช่างแวววาว

ช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาที่ทวีความโหด ไม่ว่าจะเรื่องปากท้อง โรคภัย สงครามน้ำลาย คนที่ไร้ความละอายฉวยโอกาส ฯลฯ

ดิฉันได้เห็นแสงวิบวาวแจ่มจรัสคล้ายหิ่งห้อยในคืนมืดจากหลากหลายจุดทั่วสังคมไทย

ล่าสุด ตอนไปห้าง ดิฉันเห็นคิวยาวเหยียด  จึงโฉบไปที่ผู้หญิงท่านหนึ่ง (ที่เลือกแล้วว่าดูคล้ายยังไม่หงุดหงิดกับการต่อแถว) และถามผ่านหน้ากากผ้า ว่า “รอซื้ออะไรเหรอคะ”

คุณลุงใส่ขาก๊วย ที่ยืนถัดไป ตอบผ่านหน้ากาก ด้วยเสียงร่าเริงเสมือนได้ของขวัญที่ถูกใจยิ่ง 

“หน้ากากอนามัยครับ...10 บาทเอง!!”

จากนั้นก็กุลีกุจอชี้อย่างมีน้ำใจไปที่โต๊ะที่มีเจ้าหน้าที่ห้างคอยบันทึกรายละเอียดลูกค้าก่อนที่จะเข้าคิวซื้อ

“ไปลงชื่อก่อนตรงนั้นครับ 10 บาทเอง หายากครับ”

หลังหน้ากากผ้า คุณลุงน่าจะมีรอยยิ้มที่ดิฉันสัมผัสได้ แม้ไม่เห็น

ความปรารถนาดี แม้แต่เรื่องจิ๋วๆ จากเพื่อนมนุษย์ที่เราไม่เคยได้รู้จัก เป็นแสงที่สามารถจุดประกายขยายต่อได้ ไม่สิ้นสุด

วันนี้ ดิฉันจึงขออนุญาตเลียนแบบ เป็นหิ่งห้อย ตัวน้อยบ้าง โดยขอแบ่ง วิธี DIY คลายกังวลยุคโควิด 19 ค่ะ

จากที่มีโอกาสจัด workshop การพัฒนาตนเองสำหรับมืออาชีพและผู้บริหารตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อเรียนจบ ดิฉันมักถามผู้เรียนว่า วิธีใดจากการเรียนที่ท่านเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สุด ในการบริหารปัญหา ที่ยังคิดไม่ตก (แต่จิตตกอย่างเตี้ย)

ขอยก 1 วิธีของผู้เข้าอบรมคนเก่งท่านหนึ่ง ที่ได้เข้า workshop series เรื่องการพัฒนาผู้นำต่อเนื่องหลายครั้ง ท่านนี้คือ รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันหนึ่ง ดิฉันพบท่านอย่างบังเอิญหลังจากไม่ได้พบกันนานนับปี เมื่อทักทายสอบถามสารทุกข์สุขดิบกันเรียบร้อย ท่านพูดว่า

“ที่อาจารย์มักถามเราบ่อยๆในห้องสัมมนาว่า ที่อาจารย์สอน สิ่งไหนน่าลองไปใช้ที่สุด”

“ผมลองใช้วงกลม 2 วงที่อาจารย์สอน ผมว่ามันง่ายแต่เป็นประโยชน์มาก”

ท่านไหนที่เป็นครู จะรับรู้ถึงความปิติของดิฉันในนาทีนั้น :)

ระหว่างปลื้มใจว่าเราได้สร้างประโยชน์ ก็รีบแอบทบทวนอย่างไวว่า ‘วงไหนหว่า?’ เพราะในการสัมมนาต่อเนื่องหลายปี มีคุยกันหลายสิบเรื่อง และนึกได้ว่าอาจารย์สุธรรมหมายถึงสิ่งนี้

  159247579612

สองวงนี้มีที่มาจาก Dr. Steven Covey และหนังสือขายดีตลอดกาล The Seven Habits of Highly Effective People ค่ะ

สรุปหลักการ คือ คนเรามีแค่ 2 เรื่องรอบกาย

  1. เรื่องวงนอก“สิ่งที่คุมไม่ได้” Circle of Concern ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่เรากังวลสิ่งที่เป็นปัญหา พาใจวิตก แต่เรา (ยัง)ไม่มีพลังพอที่จะทำอะไรกับมัน
  2. เรื่องวงใน“สิ่งที่คุมได้” Circle of Influence วงนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เรามีพลังและอำนาจที่สามารถทำแก้ ปรับ เปลี่ยน จับ หยุด ฯลฯ ได้หมด

ตัวอย่างเช่น รถติด กลัวไปทำงานไม่ทัน เรื่องรถติด อยู่วงนอกชัวร์ๆ จะเพียรบ่นก่นด่า เจ้าปัญหาก็ยังยิ้มเฉย

วงใน สำหรับเรื่องนี้ คือ มีอะไรที่เราทำได้บ้าง เพื่อคลายกังวลเรื่องรถติดทำให้ไปทำงานไม่ทัน เช่น สิ่งที่ทำได้ทันที คือ ตื่นเช้าขึ้น! ในระยะยาว อาจหาที่พักใกล้กับที่ทำงาน หรือหางานใกล้บ้าน หรือเจรจาเข้างานกะสาย ฯลฯ

มาดูวันนี้ที่เราต้องเผชิญกับศัตรูตัวจิ๋ว (ที่เค้าคงทำทุกอย่างเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์คล้ายสิ่งมีชีวิตทั่วไป)

คำถามและความคิดวงนอก มักป้วนเปี้ยนวนเวียนว่า… ทำไมต้องเกิดตอนนี้, ข้าวของจำเป็นทั้งขาดทั้งแพง ทำไมใครๆไม่ทำอะไรให้เด็ดขาด, นโยบายโน่นนี่ พี่ๆใช้อวัยวะใดคิด, ทำไมประเทศไทยงมงายเช่นนี้, เมื่อไหร่จะห้ามคนออกจากบ้าน เรียนรู้บ้างไหมว่าที่อื่นเขาทำอย่างไร, ฯลฯ

แต่ คนคิดวงใน เค้าคิดทำเยี่ยงนี้

  • ใครจะตะลอนไปไหนหรือไม่อย่างน้อยฉันไม่ไป เพราะไม่อยากทั้งเอาตัวไปเสี่ยง แถมเลี่ยงเป็นภาระให้ทั้งคนใกล้ไกลตัว หากติดเชื้อขึ้นมา
  • ช่วงนี้มีเวลาหาเรื่องดีๆทำดีกว่า อาทิ เรียนรู้สิ่งสนุกๆ ฟรีๆ ที่มีมากมาย เช่น วิธีปลูกผัก organic หลังบ้าน, วิธีถ่ายรูปอาหารให้สวยเพื่อขาย online, หรือ ฟังมุมเรียบง่ายแต่ลึกล้ำ จาก อาจารย์พศิน อินทรวงศ์ ทาง YouTube, ฯลฯ
  • ปรับทักษะ เตรียมพร้อม เตรียมรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งดีและไม่ดี ที่จะเกิดอีก อย่างไม่ประมาท (หรือประมาทน้อยกว่าเดิม)
  • ออกกำลังกาย ไหนๆ ก็มีเวลาว่างอย่างที่ไม่เคยมี ดีจัง
  • ติดต่อส่งกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ ที่ในอดีตละเลย ฯลฯ

2 วงนี้สำคัญอย่างไร

หลายครั้งมนุษย์อย่างเรามักมีเรื่องกังวลมากมายในสิ่งที่เราทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่ไม่วายคิดกลับไปกลับมา วนเวียน จนเปลี่ยนเป็นวิตกจริต คิดหาทางออกไม่พบ เลยจบที่ยิ่งวิตกหนักต่อ เป็นวงจรอุบาทว์

ส่งผลให้ ไม่มีทั้งพลัง ไม่มีทั้งปัญญา และไม่มีเวลาเหลือไปทำอะไรที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ดังนั้น ยามใดที่เริ่มกังวล..หยุดตั้งสติ และถามตัวเองว่า เรื่องที่กังวลอยู่วงไหน

หากพบว่าอยู่วงนอกเห็นๆ จงถือเป็นจังหวะเหมาะ ที่จะกระชากใจและสมองกลับเข้ามองวงใน จะได้คิดทำอะไรที่พอทำได้และให้ประโยชน์กว่า ไม่เสียเวลาร่ำไร ที่ทั้งไม่ได้อะไร ทั้งทำให้สมองฝ่อหน้าเหี่ยวก่อนวัยอันควร

จึงเป็น วิธีที่ง่ายแต่ทรงพลัง สำหรับใช้บริหารความคิด ยามจิตตกค่ะ

ครั้งหน้า จะมีวิธีอื่นๆมาฝากจากหิ่งห้อยค่ะ