เศรษฐกิจทรุดหุ้นขึ้น: ใครถูก ใครผิด
อาทิตย์ที่แล้ว สำนักข่าวซีเอ็นบีซี(ประเทศไทย)ได้ขอความเห็นผมเกี่ยวกับข่าวที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ
จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงจาก 3% ที่ประเมินไว้เดือน เม.ย. ซึ่งผมไม่แปลกใจเพราะ ล่าสุดหลายองค์กร เช่น โออีซีดี และธนาคารโลกต่างก็ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเช่นกัน แต่ที่แปลกใจคือ การปรับขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกต่อเนื่องช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูแย่ลง จนเกิดคำถามว่า เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นได้อย่างไร ตามสัญญาณการปรับขึ้นของตลาดหุ้น เพราะความอ่อนแอและความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกที่มีมากขณะนี้ เกิดเป็นประเด็นว่า ใครถูกใครผิดในเรื่องนี้ระหว่าง ตลาดหุ้นคือนักลงทุนกับนักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะแย่กว่าที่ประเมินไว้เดิม นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ตอนเดือนเม.ย. ที่ไอเอ็มเอฟประเมินว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 3% จากผลของวิกฤติโควิด-19 ณ ตอนนั้น ผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์ต่างๆ ต่อเศรษฐกิจกำลังเริ่มต้น และผลกระทบทั้งสองด้านยังไม่ชัดเจน แต่ถึงเดือนนี้ผ่านมา 5 เดือนผลกระทบต่างๆ ชัดเจนขึ้น 1. เป็นวิกฤติที่รุนแรงกระทบไปทั่วโลกกว่า 170 ประเทศ และสร้างความเสียหายมากทั้งต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ในหลายประเทศระดับรายได้ต่อหัวประชากรจะลดลง และความยากจนจะเพิ่มสูงขึ้น
2.การระบาดได้ลากยาวและสถานการณ์ในหลายประเทศถึงขณะนี้ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะในประเทศใหญ่ๆ อย่าง สหรัฐ อินเดีย รัสเซีย บราซิล และอังกฤษ ทั้งโลกมีคนติดเชื้อมากกว่า 8 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 4 แสนคน เมื่อสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ความเสียหายต่อเศรษฐกิจก็คงจะมีมากขึ้น
3.วิกฤติคราวนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคบริการรุนแรง ซึ่งในภาคบริการผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และมีการจ้างแรงงานมาก วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจเหล่านี้บางส่วนต้องปิดกิจการ เลิกจ้างงาน ทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก เฉพาะสหรัฐจำนวนผู้ลงทะเบียนว่างงานล่าสุดมีมากกว่า 40 ล้านคน ชี้ถึงความรุนแรงของวิกฤติที่อยู่เหนือความคาดหมาย
ที่สำคัญ มองไปข้างหน้าโดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดอีกในรอบสอง รอบสาม ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถ้ารุนแรงจนต้องประกาศล็อคดาวน์อีก การประท้วงในสหรัฐที่เกิดขึ้นก็เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป นอกจากนี้ ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ได้พัฒนาเป็นสงครามเย็นไปแล้ว จะเป็นความเสี่ยงต่อทั้งเศรษฐกิจและความปลอดภัยในการทำธุรกิจทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยลบที่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะแย่กว่าที่ไอเอ็มเอฟได้ประเมินไว้ในเดือนเม.ย. แต่ตัวเลขใหม่จะเป็นเท่าไร คงต้องตามการแถลงข่าวของไอเอ็มเอฟปลายเดือนนี้
สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ มี 2 ประเด็นที่อยากให้ตระหนัก
1.การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก เกิดขึ้นขณะที่ประเทศส่วนใหญ่กำลังเริ่มเปิดเมือง เพื่อให้กิจกรรมเศรษฐกิจสามารถกลับมาทำได้เหมือนปกติ และรัฐบาลทุกประเทศก็มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเตรียมไว้เต็มที่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่แม้ทั้ง 2 อย่างนี้จะเกิดขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ยังถูกประเมินว่าจะติดลบ และการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นจริงจังก็ปีหน้า ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังมาตรการล็อคดาวน์เป็นไปได้ค่อนข้างช้า ทำได้ไม่ทั่วถึงแต่เป็นจุดๆ ตามสถานการณ์การระบาด ขณะที่ประชาชนเองก็ยังกังวลเรื่องการระบาด ยังระมัดระวังไม่กลับไปทำกิจกรรมเศรษฐกิจเต็มที่เหมือนก่อน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังล็อคดาวน์ไม่เต็มร้อย และกระบวนการการฟื้นตัวจะใช้เวลา จนกว่าประชาชนจะมีความมั่นใจมากขึ้นต่อสถานการณ์การระบาดว่าสามารถควบคุมได้
2.ตลาดหุ้นได้ปรับสูงขึ้นล่วงหน้าก่อนตัวเลขจะชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่ได้ทรุดลงมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.พ.จนถึงระดับต่ำสุดปลายเดือน มี.ค. แต่ขณะนี้ได้ตีกลับขึ้นมาได้มากพอสมควรจนเกิดคำถามว่า ตลาดหุ้นดีใจอะไรเกินไปหรือเปล่าในเรื่องเศรษฐกิจทั้งที่แนวโน้มเศรษฐกิจจากนี้ดูแย่กว่าที่ประเมินไว้ในเดือนเม.ย. ประเด็นคือ ถ้าตลาดหุ้นเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นปรับตัวในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ หรือปรับขึ้นมากเกินไปหรือเปล่า เทียบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกขณะนี้
เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นได้เสมอ หลังเกิดผลกระทบใหญ่ๆ ที่ตลาดหุ้นปรับตัวเร็วเกินปัจจัยพื้นฐาน และในที่สุดก็ต้องปรับฐานให้เข้าไปกับปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น เช่น กรณีปี 1987 แบล็คมันเดย์ หรือปี 1999 ที่มีฟองสบู่ในหุ้นอินเทอร์เน็ต หรือ dotcom mania สำหรับภาวะปัจจุบัน นักวิเคราะห์หลายคนก็มองคล้ายกันว่า ตลาดหุ้นปรับตัวเกินปัจจัยพื้นฐาน กระตุ้นโดยสภาพคล่องที่เกิดขึ้นจากการอัดฉีดของธนาคารกลางทั่วโลก และแนวโน้มที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ พฤติกรรมนักลงทุนในตลาดการเงินก็เปลี่ยนไป คือ สภาพคล่องที่มีมากจากการอัดฉีดของธนาคารกลาง ทำให้มีแรงกดดันที่ต้องนำสภาพคล่องเหล่านี้ไปลงทุน และในภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ทางเลือกของนักลงทุนก็มีไม่มาก ตลาดพันธบัตรรัฐบาลเองก็มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากและหลายประเทศอัตราดอกเบี้ยติดลบ กดดันให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนมากขึ้นในตลาดหุ้นโดยปริยาย และระวังเรื่องความเสี่ยงน้อยลง ช่องว่างจึงเกิดขึ้นระหว่างภาวะขาขึ้นในตลาดหุ้นอย่างที่เห็นกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่เป็นขาลง
เรื่องนี้ไอเอ็มเอฟก็ออกมาเตือนเช่นกัน เพราะช่องว่างที่เกิดขึ้นจะทำให้ตลาดหุ้นผันผวน และจะอ่อนไหวง่ายกับข่าวต่างๆ มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ในที่สุด ตลาดก็จะปรับฐานให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน นี่คือประเด็นที่ต้องตระหนัก และอยากฝากไว้