FED ซื้อตราสารหนี้เอกชนรายตัวครั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง
สัปดาห์ที่ผ่านมา FED ได้สร้างปรากฏการณ์อีกครั้ง หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐโดยดัชนี S&P 500 ได้ปรับฐานรุนแรงถึง 5.89%ในวันพฤหัสบดีที่ 11 มิ.ย.2563
ซึ่งทำให้ตลาดมองว่าน่าตามมาด้วยการปรับฐานใหญ่หลังจากตลาดหุ้นปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 2 เดือนก่อนหน้า และจากอดีตมีเพียงไม่กี่ครั้งที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะฟื้นตัวได้ทันทีภายหลังจากมีการปรับตัวลดลงกว่า 5% ในวันเดียว
สิ่งที่ FED ตัดสินใจประกาศและลงมือทำในวันที่ 15 มิ.ย.2563 นับว่ามีนัยสำคัญต่อตลาดทุนมากๆ ในอนาคต คือการประกาศเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชนเป็นรายตัว โดยจะซื้อหุ้นกู้ในลักษณะกระจายทั้งดัชนี และเลือกมาจากหุ้นกู้ของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ investment grade ก่อนวันที่ 22 มี.ค. ก็คือก่อนวิกฤติ COVID-19 นั่นเอง โดยโปรแกรมในซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้นมีสูงถึง 7.5 แสนล้านดอลลาร์ เป็นการซื้อในตลาดรอง 2.5 แสนล้านดอลลาร์
มีบริษัทจำนวนมากที่กำลังจะเข้าข่ายล้มละลายที่สามารถเข้าถึงโปรแกรมการอุดหนุนของ FED ในครั้งนี้ได้ โดยในปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐมีตราสารหนี้เอกชนประเภท Investment Grade Bond ออกใหม่ถึงสัปดาห์ละประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนมุมมองว่าเศรษฐกิจคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัว และ FED ตัดสินใจใช้ยาแรงคือเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทเอกชนโดยตรง ตลาดหุ้น Dow Jones ตอบรับทันทีจากที่ปรับลดลง 760 จุดกลายเป็นปิดบวก 158 จุดในวันนั้น และ Credit Spread กลับมาแคบลงทันที
สิ่งที่ FED ทำคือต้องการทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของบริษัทเอกชนอยู่ในระดับที่ต่ำ นั้นคือการทำให้ Credit Spread แคบลง ซึ่ง Credit Spread นั้นมีความสัมพันธ์ที่ผกผันกับตลาดหุ้น คือถ้า Credit Spread แคบลง เรามักจะได้เห็นหุ้นอยู่ในภาวะขาขึ้น ขณะที่ Credit Spread หรือต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชนจะสูงขึ้นในยามที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง
ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 11 มิ.ย. ที่ตลาดหุ้น S&P 500 ปรับฐานรุนแรงนั้นจะเห็นได้ชัดว่านอกจากตลาดมีความกังวลเรื่องการเกิด Wave II ของ COVID-19 แล้ว ผู้เขียนมองว่าตลาดผิดหวังกับผลการประชุม FED ในวันพุธที่ 10 มิ.ย. ที่ไม่ได้มีการออกนโยบายกระตุ้นออกมาเพิ่มรวมถึงการที่คิดจะยังไม่ทำ Yield Curve Control และการเข้าซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนผ่านตลาด ETF ก็ทำไปเพียงไม่กี่พันล้านดอลลาร์ส่งผลให้นักลงทุนผิดหวังและ Credit Spread ปรับเพิ่มขึ้นอย่างแรงหลังจากการประชุมนโยบายการเงินของ FED
การที่ FED ได้ออกมาบอกอีกว่าพร้อมทำการเข้าสนับสนุนตลาด Credit เรื่อย ๆ หากต้นทุนการกู้ยืมเงินปรับสูงขึ้น ซึ่งอีกนัยหนึ่งเท่ากับว่า FED จะพยายามกดให้ Credit Spread ลดลงและอยู่ในระดับต่ำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าภาคเศรษฐกิจแท้จริงจะฟื้น หากมองอีกมุมนึงก็เท่ากับว่าเมื่อไหร่ที่ตลาดหุ้นผันผวน และ Credit Spread ดีดขึ้น เราก็อาจจะได้เห็น QE ของ FED ฉีดสภาพคล่องเข้ามาในตลาดตราสารหนี้เหมือนอย่างวันที่ 15 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา และก็เท่ากับเป็นการช่วยพยุงตลาดหุ้นไปในตัว
นโยบายการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนรายตัวครั้งนี้จึงน่าจะเป็นการสร้าง “กันชน” ให้กับตลาดได้ เป็นอย่างดีและเป็นการประกาศนัย ๆ ว่า FED พร้อมเสมอที่จะเข้าช่วยอัดฉีดสภาพคล่องพยุงตลาดทุนทุกครั้งที่ตลาดทุนมีปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่าวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ “FED นายแน่มากจริงๆ” ครับ