กรุยทางสู่ยุค Robotaxi
บริษัทเวย์โม (Waymo) ซึ่งแตกธุรกิจออกจากกูเกิลเพื่อบุกเบิกงานด้านนวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับ (AV)
มักถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมรถแท็กซี่ไร้คนขับ “Robotaxi” (หรือ Autonomous Taxi) โดยในต้นปี 2020 เวย์โมสามารถทดสอบระบบรถยนต์ไร้คนขับในท้องถนนจริงกว่า 20 ล้านไมล์ รวมถึงทดสอบในระบบซิมมูเลชั่นอีกกว่า 10,000 ล้านไมล์ ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และนักพัฒนาตัวยงอย่างเทสล่า (Tesla) ได้ฝังระบบ “Autopilot” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรถ พร้อมกับเก็บข้อมูลการขับเคลื่อนจริงบนท้องถนนทั่วไปแล้วกว่า 2,200 ล้านไมล์ ซึ่งเมื่อมีการอัพเดทซอฟต์แวร์ของรถให้รองรับ AV รถเทสล่าก็อาจพร้อมต่อบริการ Robotaxi เช่นกัน
เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับนับเป็นหนี่งในนวัตกรรม AI ที่กำลังดีสรัปอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยตัวเลขจาก Cruise หน่วยงานพัฒนา AV ภายใต้ GM ประมาณว่าตลาดและธุรกิจรถ AV อาจมีมูลค่าสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้าสู่การพัฒนา AV อาทิ การลงทุนใน Cruise จากจีเอ็มและฮอนด้า การร่วมลงทุนในบริษัท Argo AI ของฟอร์ดและโฟล์คสวาเกน และการร่วมมือของพันธมิตรในแพลตฟอร์มอพอลโล (Apollo) ของไบดู รวมทั้งการเร่งเครื่องพัฒนาของ Uber, Lyft และ DiDi ตลอดจนการทดสอบรถ AV บนท้องถนนของเหล่าสตาร์ทอัพดาวรุ่งอย่าง AutoX, Pony.ai, Zoox และ WeRide.com เป็นต้น
ไบดูนำหน้าด้วย V2X
แพลตฟอร์มอพอลโลของไบดู (Baidu) ถูกวางกลยุทธ์ให้เป็นเสมือนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สำหรับรถยนต์ AV โดยการรวบรวมและเปิดเผยเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ทั้งในลักษณะซอฟต์แวร์ (Open Source) API และข้อมูลที่เก็บจากการทดสอบ เพื่อให้แก่พันธมิตรที่ร่วมในโครงการสำหรับใช้ต่อยอดการออกแบบ พัฒนาและทดสอบ จนเกิดเป็นอีโคซิสเต็มใหญ่ที่รวมเอาผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้พัฒนาเทคโนโลยี AV ชั้นนำมากกว่า 130 รายเข้าด้วยกัน อาทิ กลุ่มค่ายรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู ฟอร์ด โฟลค์สวาเกน ฮอนด้า และโตโยต้า
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาไบดูได้เปิดตัว “Apollo Park” บนพื้นที่ 13,500 ตารางเมตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจอี้จวงของปักกิ่ง เพื่อเป็นสถานที่ทดสอบการขับเคลื่อนรถระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับที่รถขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ โดยเริ่มทดสอบกับรถกว่า 200 คันในพื้นที่ที่ติดตั้งระบบ “Intelligent Vehicle Infrastructure Cooperative System (IVICS)” สำหรับพัฒนาและทดสอบระบบการสื่อสารระหว่างรถบนถนน (V2V) และการสื่อสารระหว่างรถกับสิ่งก่อสร้างเพื่อการใช้รถใช้ถนน “Vehicle-to-everything (V2X)” เช่น สัญญาณไฟจราจร
ภายใน Apollo Park มีการติดตั้งระบบคลาวด์คอมพิวตั้งเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูล ควบคุมการปฏิบัติงาน และการซ่อมบำรุง ตลอดจนการค้นคว้าวิจัยของรถยนต์ AV โดยมีศูนย์ Calibration Center และ Security Command Center
สตาร์ทอัพมาแรง
AutoX ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดย Jianxiong Xiao (Professor X) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันซึ่งเชี่ยวชาญด้าน AI และ Deep Learning โดยเริ่มให้บริการส่งสินค้า (RoboDelivery) ในเขตเมืองซานโฮเซ ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2018 และได้รับอนุมัติให้ทดสอบบริการ Robotaxi เพื่อขนส่งผู้โดยสารในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2019 จนทำให้ AutoX เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพด้าน AV ที่ได้รับเงินลงทุนทั้งจากอาลีบาบา เซียงไฮ้มอเตอร์และตงเฟิงมอเตอร์ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน
AutoX ได้รับอนุมัติให้ทดสอบบริการ Robotaxi ในเขตเจียติ่งของเซี่ยงไฮ้เป็นรายแรก และเริ่มให้บริการ Robotaxi ด้วยรถ 100 คันโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในกลางปี 2020 ซึ่งรถสามารถแล่นด้วยความเร็วสูงถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้รับอนุญาตให้หยุดรับส่งผู้โดยสารได้ทุกจุดภายในพื้นที่ที่กำหนด
โดย AutoX ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ขนาด 7,400 ตารางเมตรเพื่อดูแลการทำงานของรถ Robotaxi พร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลการขับในแต่ละวัน รวมถึงเป็นคลังข้อมูลระบบซิมมูเลชั่นจากคลาวด์คอมพิวเตอร์
Pony.ai นับเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ถูกประเมินมูลค่าตลาดถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ภายหลังการเข้าร่วมลงทุงกว่า 400 ล้านดอลลาร์จากโตโยต้า โดย Pony.ai เริ่มทดสอบบริการ Robotaxi ในเมืองกวางโจวตั้งแต่ปี 2018 และได้รับอนุมัติให้ทดสอบ Robotaxi ในเมือง Irvine รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2019 เช่นกัน
เริ่มต้นที่ดิสรัปตนเอง
รถยนต์กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่สามารถออกแบบตามการใช้งานต่างกันไป หรือที่เรียกว่า “Purpose-Built” อย่างเช่นรถ Cruise Origin จาก GM ที่แสดงให้เห็นว่าตัวรถเองก็กำลังจะถูกดีสรัปให้มีพื้นที่ใช้สอยในตัวรถที่เปลี่ยนไป โดยไม่ต้องมีพวงมาลัยรถหรือแผงคันเร่งอีกต่อไป นอกจากรถจะเป็นยานพาหนะที่พาผู้คนไปในจุดหมายแล้ว รถอาจกลายเป็นห้องประชุม ห้องอาหาร ห้องคาราโอเกะ ร้านค้าหรือห้องเรียนได้อีกด้วย
แม้การดีสรัปอุตสาหกรรม AV อาจดูคล้ายเรื่องไกลตัว แต่การเตรียมสายการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาความรู้ความชำนาญในเทคโนโลยีใหม่ต้องใช้เวลาและทรัพยากร ความพร้อมทางเทคนิคย่อมสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ ธุรกิจจึงควรดีสรัปตนเองเสียแต่วันนี้เพื่อให้พร้อมรับมือกับโอกาสทางธุรกิจที่มาจากการดีสรัปชั่น