เตรียมรับมือกับเศรษฐกิจปีนี้
อาทิตย์ที่แล้ว มี 2 ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ต้องถือเป็นข่าวร้าย
1.ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้เป็นลบ 4.9% 2.แบงก์ชาติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากลบ 5.3% ที่ประเมินไว้เดือนมีนาคม เป็นลบ 8.1% ข้อมูลทั้งสองชี้ว่า ปีนี้ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะอาการหนัก แม้แนวโน้มจะดีขึ้นในปีหน้า เป็นช้อมูลที่ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนควรต้องทราบและควรเตรียมตัวไว้
สำหรับเศรษฐกิจโลก ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการเพราะผลกระทบของโควิดต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังมาตรการล็อคดาวน์ก็ช้า เพราะมาตรการสาธารณสุขและการรักษาระยะห่างในสังคมทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ชัดเจนว่า วิกฤติคราวนี้กระทบผู้มีรายได้น้อยมากกว่าคนมีฐานะ ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากต้องปิดกิจการ การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น และรัฐต้องเข้ามาเยียวยาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
การประเมินของแบงก์ชาติก็ออกมาในทางเดียวกัน เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 8.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยแย่สุดช่วงนั้นก็ปี 1998 ที่ขยายตัวติดลบ 7.6% ดังนั้นปีนี้จะรุนแรงกว่า
ที่แบงก์ชาติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอกว่าที่คาด จากผลของโควิดทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวถูกกระทบมาก ในประเทศเอง แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็ถูกปรับลดลง ทำให้มีกลไกตัวเดียวที่เป็นความหวังในการประคับประคองเศรษฐกิจปีนี้ คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งก็คือการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินสี่แสนล้านบาท และรายจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน ปี 64 ที่จะเริ่มเดือน ต.ค. แต่เหมือนทุกปี งบประมาณประจำปีจะเป็นการใช้จ่ายที่เป็นภาระประจำเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจจะไม่มีอะไรพิเศษ ที่เป็นความหวังคือการใช้จ่ายจากวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าสามารถจัดสรรการใช้จ่ายได้ถูกต้องเหมาะสม ไม่สูญเสีย รั่วไหล และใช้จ่ายอย่างตรงจุด เงินส่วนนี้ก็สามารถสร้างความแตกต่างและจะมีผลต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศได้มาก
เหตุผลหลักของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี่คือเจตนารมย์ของกฎหมาย ดังนั้น เงินส่วนนี้จึงไม่ใช่เงินที่ระบบราชการจะนำไปใช้จ่ายเป็นการทั่วไป แต่ต้องใช้โดยมีเป้าหมายไปที่ส่วนของเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด นี่คือเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ในกรณีของเรา ผลกระทบที่รุนแรงสุดคือ ผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อยหรือมีรายได้เป็นรายวัน ธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กและจิ๋ว ที่โควิดทำให้ธุรกิจเหล่านี้จำนวนมากต้องปิดกิจการ ต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในแง่สภาพคล่องและการผ่อนปรนการชำระหนี้ ขณะที่คนจำนวนมากก็ตกงาน และไม่ชัดเจนว่า เดือนหน้าเมื่อเงินเยียวยาหมดลง คนกลุ่มนี้จะมีงานทำหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะไม่มีรายได้ และจะเป็นปัญหาตามมาให้กับเศรษฐกิจและสังคม
แต่คนตกงานจะมีงานทำก็ต้องมีธุรกิจเป็นผู้จ้าง ภาคธุรกิจเองก็ถูกกระทบมากจากวิกฤติโควิด บางธุรกิจไปต่อได้ ปรับตัวได้ แต่บางธุรกิจต้องปิดกิจการ หรือต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ สามารถจ้างงานต่อไปได้ นอกจากนี้ คนตกงานเองก็ต้องปรับตัวถ้าทักษะแรงงานที่มีอยู่ไม่ตรงกับงานที่จะมีในช่วงต่อไป เพื่อให้สามารถหางานทำได้ หรือถ้าต้องการไปประกอบอาชีพอิสระ เช่น กลับไปภาคเกษตร ก็ต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุน และความรู้ที่จะช่วยในการประกอบอาชีพ
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้โจทย์เศรษฐกิจหลังเดือนนี้ คือ 1.สร้างงาน สร้างรายได้เพื่อให้คนที่ตกงานและต้องการทำงาน มีงานทำ มีรายได้ เพราะการมีรายได้ก็คือกำลังซื้อของระบบเศรษฐกิจ 2.ช่วยธุรกิจที่มีปัญหาแต่มีศักยภาพให้สามารถปรับตัวได้ในโลกธุรกิจหลังโควิด เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจ 3.ช่วยระบบเศรษฐกิจปรับตัวในเรื่องการใช้ทรัพยากร คือลดใช้ทรัพยากรในธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ ไปสู่ธุรกิจหรือสาขาเศรษฐกิจที่จะไปต่อได้และแข่งขันได้ในโลกหลังโควิด พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ ขนานไปกับการเพิ่มความรู้และทักษะแรงงานเพี่อสนับสนุนเศรษฐกิจในการปรับตัว ซึ่งจะช่วยให้คนที่ต้องการทำงานมีงานทำ นี่คือ ความช่วยเหลือที่เศรษฐกิจรออยู่
ที่เป็นห่วงกันขณะนี้คือ การใช้เงิน 4 แสนล้านบาทของหน่วยราชการจะไม่ตรงกับโจทย์ดังกล่าว ทำให้การใช้เงินไม่ตรงเป้าและไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ข้อห่วงใยนี้มาจากข้อเสนอกว่า 42,000 โครงการ ในวงเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาทที่หน่วยราชการเสนอเข้ามา ที่ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับการสร้างงาน การช่วยธุรกิจ SMEs และช่วยเศรษฐกิจในการปรับตัว ทำให้การใช้เงินของภาครัฐอาจผิดเป้าและความหวังที่เงินก้อนนี้จะลดผลกระทบของโควิดและช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอาจไม่เกิดขึ้น