พยาบาลและ อสม.ดูแลคนไทยทุกคน

พยาบาลและ อสม.ดูแลคนไทยทุกคน

1 เดือนก่อน ที่ทั้งโลกจะตื่นตระหนกด้วยโรคระบาดโควิด-19

ฟอรั่มเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ฉบับเดือน ม.ค.2563 เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น ได้สร้างโอกาสการทำงานใหม่ๆ โดยในหัวข้อ Jobs of Tomorrow Mapping Opportunity in the New Economy ระบุว่าเศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่ (care economy) เป็น 1 ใน 5 สาขางานอาชีพเกิดใหม่ที่จะมาแรงในอนาคต 

ขณะที่ทุกรัฐบาลสนใจเตรียมตัวกับสาขางานอาชีพอื่น อย่างเช่นข้อมูลรวม (Cloud Data ) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) การขาย การตลาด และงานสร้างสรรค์เนื้อหาสาระ (Sales, Marketing and Content) แทบไม่มีรัฐบาลใดสนใจเนื้อหาสาระของเศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่ (care economy) อย่างจริงจัง นอกเหนือไปจากที่เคยทำอยู่แบบเดิมๆ ในการรักษาดูแลรักษาพยาบาล

ในบ้านเราที่สนใจตื่นตัวขึ้นบ้างก็เฉพาะในบริการด้านการแพทย์ด้วยวีซ่าท่องเที่ยว การท่องเที่ยวสุขภาพ และดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งเป็นบริการสุขภาพทำเงินอย่างน่าประทับใจ โชว์ตัวเลขจีดีพีได้ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่ หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ให้คนในสังคมมีสุขภาวะดี (well-being) คนป่วยทั้งในครอบครัวและในชุมชนสาธารณะ เช่น ศูนย์อนามัย โรงพยาบาล ตลอดจนบริการสุขภาพด้านป้องกัน บริการทางการศึกษา สันทนาการ สาธารณูปโภคอื่นๆ เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิต เป็นเนื้องานเกิดประโยชน์เป็นต้นทุนชีวิต ไม่ใช่แสดงออกมาด้วยตัวเลขจีดีพี

เศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่ ที่ผ่านมาในทุกสังคมได้ใช้แรงงาน เวลาและการเสียสละของเพศหญิงเป็นหลักโดยไม่มีค่าจ้าง (unpaid) มากกว่ามีค่าจ้าง (paid) และถึงจะมีค่าจ้าง เช่น พยาบาลวิชาชีพ ผู้ดูแลเด็ก ผู้ดูแลคนชรา คนทำงานบ้าน งานซักรีด คนทำความสะอาดสำนักงาน ต่างก็พบปัญหางานหนักค่าแรงต่ำ หากยกเว้นพยาบาลวิชาชีพแล้ว งานอื่นๆ ในเศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่ที่กล่าวมา ไม่มีกฎหมายแรงงานหรือกฎเกณฑ์เป็นกิจจะลักษณะที่จะสร้างมาตรฐานและมาตรการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานระบุด้วยซ้ำไปว่างานบ้านเป็นงานที่ไม่ก่อให้คุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นปมปัญหาใหญ่ที่นักสิทธิเสมอภาคพยายามชี้และหาทางแก้ไขมานานเกินครึ่งค่อนศตวรรษ

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องใจปฏิรูปทุกด้านในการงานวิชาชีพด้านเศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่

อย่างเช่นหากคำนวณตัวเลขจากสภาพยาบาลในปี 2556-2558 เรามีพยาบาลเกือบ 2 แสนคน พบว่าค่าเฉลี่ยพยาบาลวิชาชีพของไทย 1 คนในโรงพยาบาลรัฐ จะต้องดูแลผู้ป่วยมากถึง 400 กว่าคนจึงทำให้งานหนัก บางคนจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ บางคนย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน จึงต้องปฏิรูปสวัสดิภาพการทำงานโดยด่วน ตลอดจนการบริหารที่มีธรรมาภิบาล

ตามปกติ ยากยิ่งที่บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และผู้ทำงาน ทั้งมีค่าจ้างและไม่มีค่าจ้างในเศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่จะผละงานประท้วงกันเป็นวันๆ หรือแม้แต่ครึ่งวัน เพราะเนื้องานมีหลักศีลธรรมรับผิดชอบชีวิตสุขภาพของผู้ป่วย ที่ความเป็นความตายอาจขึ้นอยู่กับนาทีต่อนาที การทำงาน (เป็นกะ) ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งผู้ทำงานจำนวนมากที่มีค่าจ้างต่างทำตามบ้านไร้โอกาสรวมกลุ่มสร้างพลังต่อรอง ยิ่งผู้ทำงานดูแลเอาใจใส่อย่างไม่มีค่าจ้างในฐานะเมีย แม่ และลูกหลาน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย

แต่เพราะโควิด-19 แท้ๆ ทีเดียว หลายประเทศได้เกิดการสำรวจตนเอง เรียกร้องให้ปฏิรูปบริการด้านสุขภาพและการดูแลเอาใจใส่ เช่น จำนวนบุคลากร ค่าตอบแทน โครงสร้างสายงานรับมือโรคระบาดที่รัฐบาลมองข้ามความสำคัญ มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์หลายคนออกมาพูดกับสาธารณชน เรื่องระบบสาธารณสุขที่ล้มเหลว ฯลฯ

เมื่อสัปดาห์ก่อน ในการเรียกร้องปฏิรูปบริการสุขภาพที่ฝรั่งเศส มีตำรวจ 2-3 นายใช้ความรุนแรงจิกผมนางพยาบาลคนหนึ่งลากตัวไปบนถนน เกิดคำถามว่าการละเมิดสิทธิพื้นฐานเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศประชาธิปไตย

ในสหรัฐ บุคลากรในเศรษฐกิจการดูแลเอาใจใส่ก็มีการประท้วงเรื่องสภาพการทำงานและค่าตอบแทน ตลอดจนระบบสุขภาพที่ทุกการรักษาพยาบาลต้องใช้เงินซื้อประกัน เล่ากันอย่างขมขื่นในแคลิฟอร์เนียว่าผู้ตื่นตัวตรวจโควิด-19 ในเดือน ก.พ.ช่วงต้นๆ การระบาด เสียค่าตรวจถึง 3,000 ดอลลาร์

อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 1 ล้าน 4 หมื่นคนของเราเป็นนวัตกรรมทางสาธารณสุขที่ยอดเยี่ยม ยิ่งประจักษ์ชัดเมื่อเป็นแนวหน้าช่วงโรคระบาดโควิด-19 การปรับขึ้นค่าตอบแทนที่ได้ไม่มากนั้นถูกต้องแล้ว แต่ที่ถูกเบียดบังไปโดยข้าราชการฝ่ายปกครองดังที่ตกเป็นข่าว ต้องลงโทษทางวินัยด้วย ไม่ใช่เพียงแค่จัดหาเงินมาคืนให้

อสม.มีมาตั้งแต่ปี 2520 จัดตั้งบริหารงานในรูปแบบชุมชนเพื่อให้ชัดเจนว่าไม่ใช่ข้าราชการ ทำงานเสียสละด้วยใจอิสระ ไม่หวังผลตอบแทนเป็นตัวเงิน ผู้เขียนเคยเห็นใน กทม.ที่ อสม.เป็นผู้ดูแลพาคนในชุมชนเดินทางมาหาแพทย์เฉพาะทาง ณ โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ที่ขอนแก่น เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ได้เห็น อสม.แบ่งหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุตามซอยเล็กๆ ในหมู่บ้าน โดยในแต่ละซอยมีผู้ช่วยที่จัดตั้งไว้ บ้างเป็นลูกหลานคนในซอย บ้างเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงในซอยนั้นเอง นับว่าเป็นงานชุมชนสัมพันธ์ด้านสุขภาพน่าประทับใจมาก ต้องรักษาต่อยอดไว้ ไม่ให้ อสม.กลายสภาพไปเป็น “ลูกน้อง” ราชการกระทรวงใด

ยังมีเครือข่ายบริการสุขภาพและการดูแลเอาใจใส่ที่เอกชนพยายามทำกันอยู่อีกมาก อย่างเป็นงานอาสาสมัครมีจิตใจเสียสละอันเป็นฐานสำคัญของงานดูแลเอาใจใส่ เช่น เครือข่ายความสุขจากโรคซึมเศร้า เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง เพจ Thai Counselor โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน” ที่มาของ กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ผู้บุกเบิกงานหลักประกันสุขภาพจน ทำให้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้ลงรากปักฐานอย่างมั่นคง ด้วย พ.ร.บ.หลักประสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ต่างๆ เหล่านี้ หากรัฐสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม สังคมไทยจะยิ่งมีสุขภาวะมั่นคง แม้ว่าจีดีพีบางภาคส่วนไม่เติบโตมากนักก็ตาม