สปสช.อาจถูกฟ้องถึง 1.5 ล้านล้านบาท(1)
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการหลายอย่างไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา
ต้องเข้าใจก่อนว่าโดยหลักการกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายชำนัญพิเศษ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษร ไม่สามารถตีความขยายให้ครอบคลุมเรื่องอื่นๆ เหมือนประมวลกฎหมายทั้งหลาย
เปิดดู พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 แล้วไล่เรียงไปเรื่อยๆ พบว่า สปสช.ทำผิดกฎหมายไม่ใช่น้อย
1.มาตรา 5 วรรคสอง...คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ
2.มาตรา 6 วรรคแรก...บุคคลใดประสงค์จะใช้สิทธิตามมาตรา 5 ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนต่อสำนักงานหรือหน่วยงานที่สำนักงานกำหนด เพื่อเลือกหน่วยบริการเป็นหน่วยบริการประจำ
3.มาตรา 8 ผู้ซึ่งมีสิทธิตามมาตรา 5 ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนตามมาตรา 6 อาจเข้ารับบริการครั้งแรกที่หน่วยบริการใดก็ได้
4.มาตรา 18 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (4) กำหนดหลักเกณฑ์ การดำเนินการ และการบริหารจัดการกองทุน (6) ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการรักษากองทุน รวมทั้งการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 40
5.มาตรา 39 วรรคแรก...กองทุนประกอบด้วย (1) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี วรรคสอง...เงินและทรัพย์สินที่เป็นกองทุนไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ และ
6.เหตุผลที่ประกาศ (ท้าย พ.ร.บ.)...เพื่อให้ชนชาวไทยมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ
ไล่เรียงแต่ละข้อพบว่า
1.ตามข้อ 1 นั้นกฎหมายกำหนดการให้บริการโดยไม่มีค่าบริการเฉพาะผู้ยากไร้ แต่ สปสช.ให้บริการถ้วนหน้าทั้งหมดที่ไม่ได้รับสวัสดิการข้าราชการและ/หรือประกันสังคมมากถึง 48 ล้านคน โดยไม่มีประกาศรัฐมนตรีให้ผู้ไม่ยากไร้ได้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่ฉบับเดียว ฉะนั้นผู้ไม่ยากไร้ก็ต้องร่วมจ่ายเป็นหลัก นอกจากรัฐมนตรีกำหนดเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่ยกเว้นไม่จ่ายเป็นหลักการร่วมจ่ายเป็นข้อยกเว้น
2.ประชาชนที่ใช้สิทธิแต่ละปีประมาณ 20 ล้านคนที่ลงทะเบียน แต่อีก 28 ล้านคนไม่ได้ลงทะเบียนเพราะไม่ประสงค์จะใช้บริการ แต่ สปสช.ใช้เป็นฐานในการคำนวณเพื่อของบประมาณรายหัวทั้งหมดโดยพลการ ไม่ได้รับความยินยอม
3.การมีสิทธิรับบริการนั้นต้องมีการลงทะเบียนใช้สิทธิ ซึ่งจะเป็นที่ไหนก็ได้สำหรับครั้งแรก แต่เมื่อไม่มีการลงทะเบียน สปสช.จึงไม่สามารถนำมาคำนวณค่ารายหัวเพื่อของบประมาณจากรัฐบาลได้
4.อำนาจของคณะกรรมการมีอำนาจในการบริหารจัดการกองทุนซึ่งมีทั้ง 8 กองทุนแยกจากกันตามที่ตั้งงบประมาณ การบริหารกองทุนจึงเป็นเรื่องภายในของแต่ละกองทุน ไม่ใช่เอาทุกกองทุนมาเฉลี่ยระหว่างกัน ไม่เช่นนั้นจะแยกตั้งงบประมาณเป็นแต่ละกองทุนเพื่ออะไร
5.ยิ่งไปกว่านั้นเงินค่ารายหัวก็ไม่อยู่ในเรื่องกองทุน สปสช.จึงไม่สามารถนำเงินค่ารายหัวมาเฉลี่ยได้ ถ้าใช้ไม่หมดก็ต้องเก็บไว้เป็นเงินสำรองตามวิธีงบประมาณ แม้ไม่ต้องคืนคลัง และ
6.เหตุผลที่ประกาศตามท้าย พ.ร.บ.มีความสำคัญมากเพราะเป็นเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องการให้ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเท่านั้น ในเมื่อไม่ใช่ทุกคนในประเทศเป็นผู้ยากไร้ ทำไม สปสช.จึงนำผู้ไม่ยากไร้ไปคำนวณเพื่อตั้งงบประมาณรวม สำหรับผู้ที่ไม่ยากไร้นั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายคือหน่วยบริการต้องให้บริการที่ได้มาตรฐานอย่างเสมอกัน ต้องไม่ลำเอียงเลือกปฏิบัติ
ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน สปสช.ดำเนินการโดยพลการ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้บริการผู้ยากไร้เท่านั้น แต่ สปสช.ตีความครอบคลุมทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เลย
การกระทำของ สปสช.จึงเป็นเรื่องที่กระทำผิดทางการปกครองทำให้ประชาชนอย่างน้อย 28 ล้านคนเสียสิทธิประโยชน์ เพราะ สปสช.เอาเงินงบประมาณรายหัวของพวกเขาไปใช้จ่ายเฉลี่ยโดยไม่มีอำนาจ และปราศจากความยินยอมอย่างสิ้นเชิง