สี่ยุคของ ‘เสิ่นเจิ้น’ ที่ก้าวสู่การเป็น ‘ซิลิคอน วัลเลย์’
เสิ่นเจิ้นยุคแรกที่ทำการประมง ยุคสอง Tech Copycat และเปลี่ยนเป็นผลิตแบรนด์ตัวเองในยุคที่สาม ยุคที่สี่ เสิ่นเจิ้นกำลังก้าวสู่ ซิลิคอน วัลเลย์
ปี 2549 เป็นครั้งแรกที่ผมไปเมืองเสิ่นเจิ้น เพื่อชมตลาดไอที พบธัมไดร์ฟที่คนขายบอกว่ามีขนาด 1 กิกะไบต์ในราคาที่ถูกมาก ก่อนซื้อคนขายทดสอบให้ดูและเห็นขนาดความจุเท่านั้นจริง ผมซื้อมา 2-3 อัน แต่พอใช้จริง พบว่า ขนาดจริงมีแค่ 16 เมกะไบต์ เหตุการณ์นั้นเพื่อนวงการไอทีปลอบว่ายังโชคดีเพราะเขาเจอแม้กระทั้งโน๊ตบุ๊คปลอมมาแล้ว สมัยนั้นเมื่อพูดถึงเสิ่นเจิ้น จะนึกถึงแหล่งก็อบปี้สินค้าตั้งแต่ไอทีจนถึงสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมดังๆ
ปลายปี 2560 ผมตัดสินใจไปดูงาน China Hi-Tech Fair 2017 อีกครั้ง เสิ่นเจิ้นไม่มีภาพการเป็นนักก๊อปอีกต่อไป ผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงกว่าสามพันบูธ เกือบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีน ส่วนใหญ่มาจากเสิ่นเจิ้น ผลิตภัณฑ์เต็มไปด้วยนวัตกรรม ทั้งหุ่นยนต์ ระบบอัจฉริยะ ตลอดจนรถยนต์ไร้คนขับและรถไฟฟ้า
ย้อนไป 40 ปีก่อน เสิ่นเจิ้น มีประชากรน้อยกว่า 300,000 คน อาชีพหลัก คือ ทำประมง แต่เมื่ออดีตประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2523 กำหนดมาตรการต่างๆ จูงใจนักลงทุนทั้งด้านภาษีและกฎระเบียบการค้าต่างๆ ทำให้เสิ่นเจิ้นเติบโตเร็ว จากมูลค่าจีดีพี น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทปี 2522 กลายเป็น 1.25 ล้านล้านบาทในปี 2559 และทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคนในปัจจุบัน มีเพียง 30% ของประชากรที่ลงทะเบียนเป็นพลเมืองประจำของพื้นที่ นอกนั้นเป็นพลเมืองชั่วคราวระยะสั้นหรือระยะยาว ทั้งคาดกันว่าปี 2563 จีดีพีต่อหัวจะเป็น 36,000 ดอลลาร์
ยุคแรกที่เมืองเสิ่นเจิ้นเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ไอทีสู่โลกภายนอก ผู้คนจะเรียกกระบวนการผลิตจากที่นี่ว่า “Shanzhai” ผลิตสินค้าที่รวดเร็วแต่สินค้าสิบชิ้นที่ผลิตอาจมีคละกันทั้งของจริงและของก็อป บางชิ้นไม่สามารถใช้งานได้ กล่าวกันว่าสินค้าที่ใช้เวลาผลิตในประเทศตะวันตก 12-18 เดือนจะผลิตในสภาพแวดล้อมอย่าง Shanzhai เพียง 4-6 สัปดาห์
ตัวอย่างสินค้า Shanzhai ที่ขึ้นชื่อ คือ การก็อปปี้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังๆ สมัยนั้นอย่าง โนเกีย ซัมซุง และแอ๊ปเปิ้ล ขณะที่ สินค้าเหล่านี้แฝงไปด้วยนวัตกรรมบางอย่างที่สุดท้ายแบรนด์ดังๆ ต้องทำตามอย่าง เช่น Dual-Sim ในโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ยุคต่อมาของ เสิ่นเจิ้น คือยุคการปรับเปลี่ยน ที่มีปัจจัยหลักสามด้าน คือ ผู้คนมีความสามารถมากขึ้น มีค่าแรงที่สูงขึ้น และรัฐบาลจีนเริ่มจริงจังในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น จากการเข้าสู่ข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก ทำให้บริษัทในเสิ่นเจิ้นที่ประสบความสำเร็จ เริ่มสร้างผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตัวเอง
ยุคที่สามของเสิ่นเจิ้นเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาเยี่ยมในปี 2558 และเริ่มจัดตั้ง Maker Space กว่าหนึ่งพันแห่ง เพื่อสร้างฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ แทนการก็อปปี้สินค้าแบบเดิมๆ แต่สุดท้าย Maker Space ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า Co-working Space ทั่วๆไป และส่วนใหญ่ปิดตัวลงหลังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ
ปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่สี่ของเมืองเสิ่นเจิ้น คือ การก้าวสู่สากล (Globalization Era) พร้อมด้านนวัตกรรมที่แข่งในตลาดโลกได้ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้มากมาย เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมโดยเฉพาะด้านฮาร์ดแวร์ อาจกล่าวว่าเมืองเสิ่นเจิ้น คือ The Silicon Valley of Hardware ที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหุ่นยนต์ โดรน อุปกรณ์แวร์เอเบิล อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และอุปกรณ์ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ความสำเร็จของเมืองเสิ่นเจิ้น มาจากการมีบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก มีคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีมากถึง 37.1% สูงกว่าปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ทำให้สามารถสร้างงานวิจัยและพัฒนาได้จำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2557 พบว่า 90% ของบริษัทในเมืองเสิ่นเจิ้นลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา ขณะที่งบประมาณงานวิจัยและพัฒนาของเมืองเสิ่นเจิ้นคิดเป็น 4.2% ของ จีดีพี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศจีนที่ 2% และ 2.5% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศด้านนวัตกรรม เสิ่นเจิ้น ยังเป็นเมืองที่มีสิทธิบัตรสูงที่สุดในประเทศจีน และพบว่าการยื่นจดสิทธิบัตรกว่า 51.8% ของจีนในปี 2559 มาจากเสิ่นเจิ้น
วันนี้วิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศจีนแก้ปัญหาการปัองกันโรคระบาดได้ดีกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเมืองเสิ่นเจิ้นว่า จะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่น่าแปลกใจถ้าอนาคตอันใกล้ เมืองเสิ่นเจิ้นกลายเป็นซิลิคอน วัลเลย์ตัวจริงแซงหน้าอีกหลายประเทศทั่วโลก