เกณฑ์ใหม่‘โซลาร์ประชาชน’ มุ่งส่งเสริม หรือ แค่เอาใจ?
โครงการ“โซลาร์ภาคประชาชน”กำลังเป็นอีกโครงการสำคัญที่กระทรวงพลังงาน หยิบยกขึ้นมาดำเนินการในช่วงครึ่งหลังปี 2563
โดยตั้งเป้าหมายจะปรับโฉมโครงการใหม่ภายใน 60 วัน หรือ ต้องเห็นโครงการต้นแบบภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การรื้อหลักเกณฑ์ใหม่โซลาร์ภาคประชาชนเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2563 “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้นัดหมายประชุมร่วมกับ การไฟฟ้าฯ และตัวแทนภาคประชาชน
นำโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย และได้ข้อสรุปร่วมกัน ที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งมอบหมายให้“สมบูรณ์ หน่อแก้ว”รองปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ประธานคณะทำงานร่วมฯ เพื่อร่วมกันจัดทำแนวทางและปรับหลักเกณฑ์โครงการฯใหม่
ด้วยเหตุผลที่ว่า โครงการนำร่อง เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯตั้งแต่ 24 พ.ค.2562 ที่กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ต่อปี ด้วยอัตราเงินสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้า Fit อยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ตามนโยบายของ“ศิริ จิระพงษ์พันธ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยนั้น แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะจนถึงปัจจุบัน(ปี2563) มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมกำลังการผลิตแค่ 1.8 เมกะวัตต์เท่านั้น
ทำให้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ปรับลดกรอบรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชน เหลืออยู่ที่ 50 เมกะวัตต์ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี จากแผน PDP 2018 เดิม กำหนดรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ต่อปี ตลอดระยะเวลา 10 ปี
ฉะนั้น หากดูจากเหตุผลในการทบทวนโครงการดังกล่าว เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์เดิมของโครงการฯ ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการให้ประชานชนเป็นเจ้าของพลังงานด้วยตัวเอง ตามที่สนธิรัตน์ระบุไว้นั้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ และยังมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ดังนั้น การขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ“ผู้กำหนดนโยบาย”ก็ควรจะวางเป้าหมายให้ชัดเจนด้วยว่า หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ต้องการ“ส่งเสริม”ให้ประชาชนผู้ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป “ตัวจริง” สามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้อย่างยั่งยืน หรือ เพียงแค่“เอาใจ”กลุ่มผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป“ตัวปลอม”ที่ได้รับประโยชน์ไม่กี่คน
เพราะต้องไม่ลืมว่า นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานทางเลือกในอดีตที่มีการให้อัตราเงินสนับสนุนรับซื้อไฟฟ้าทั้งรูปแบบ ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ “ค่าแอดเดอร์” และการสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีดอินทารีฟ) หรือ Fit ล้วนมีผลผูกพันและสะท้อนต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ การทบทวนนโยบายเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าถือเป็นเรื่องดี แต่จะดีมากกว่า หากผ่านการวิเคราะห์และกลั่นกรองข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายนั้นๆ อย่างครบถ้วน