เพิ่ม Speed การทรานส์ฟอร์มด้วย 'Trust'
ในยุคนิวนอร์มอล ปลาใหญ่ไม่ได้กินปลาเล็กอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นปลาเร็วต่างหากที่จะกินปลาที่ว่ายช้ากว่า
ความเร็วและความยืดหยุ่น คล่องตัว (Agile) ได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการอยู่รอดและความยั่งยืนขององค์กร นี่คือสิ่งที่ศาสตราจารย์ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร The World Economic Forum ได้เคยกล่าวไว้
ดังนั้นทุกๆครั้งที่มีโอกาสได้ทำเวิร์กชอปร่วมกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ดิฉันมักจะถือโอกาสขอทำสำรวจความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการเสมอ ว่าท่านเหล่านั้นมอง “ความเร็ว” ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง นับจาก “ความเร็ว” ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายนอก “ความเร็ว” ขององค์กรในการปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก และ “ความเร็ว” ของตัวผู้นำเองในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง
ในส่วนของความเร็วของการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก จากสเกล 1-10 ผู้นำส่วนใหญ่ จะให้คะแนน 9-10 ขณะที่เมื่อถามถึงความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในองค์กรของแต่ละท่าน ส่วนใหญ่จะให้คะแนนประมาณ 6-7
มาถึงคำถามสุดท้าย “แล้วคุณในฐานะลีดเดอร์ ในการนำการทรานส์ฟอร์ม ตัวท่านเองเปลี่ยนแปลงเร็วแค่ไหน?” คำตอบที่ได้จะหลากหลายมาก บางท่านจะให้คะแนนตัวเองสูงกว่าองค์กรคือ 8 ขณะที่ให้องค์กรตัวเอง 5 หรือ 6 แต่ก็มีหลายท่านที่ให้คะแนนตัวเองแค่ 3-4
แม้ว่าการสำรวจนี้จะทำอย่างไม่เป็นทางการ แต่ในฐานะที่แพคริมเรามีลูกค้าเป็น 80% ของ ท็อป 500 องค์กรชั้นนำในประเทศไทย เชื่อว่าผลสำรวจนี้คงบอกอะไรได้หลายอย่าง
ดิฉันเชื่อว่าในวันนี้ผู้นำทุกท่านตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง หรือทรานส์ฟอร์ม เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ว่าจะเป็นตลาด คู่แข่ง เทคโนโลยี ฯลฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในแบบที่เรียกว่า “ VUCA” คือเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน และความคลุมเครือกำกวม ไม่ชัดเจน
แต่ปัญหาที่ทุกคนประสบพร้อมๆกันคือจะปรับอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงขององค์กร และปรับตัวเองในฐานะผู้นำองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกได้อย่างไร
จะเห็นว่าถ้าเราไม่ทำอะไรโลกมันคงไม่หยุดการเปลี่ยนแปลงรอเรา และโลกคงไม่เปลี่ยนช้าลงเพื่อรอเรา แต่องค์กรจะสปีดเรื่องของ Change และการทรานส์ฟอร์มให้ทันกับโลกข้างนอกได้อย่างไร และสิ่งที่กังวลที่สุดคือผู้นำขององค์กรเองจะเป็น Role Model ของทรานส์ฟอร์มได้อย่างไร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงควรเริ่มที่ตัวผู้นำเอง องค์กรจะทรานส์ฟอร์มได้สำเร็จ ผู้นำควรเป็นคนแรกที่จะต้องทรานส์ฟอร์ม รวมไปถึงทีมผู้บริหารระดับสูงด้วยที่ต้องทรานฟอร์มตัวเองให้พนักงาน ของเราเห็นก่อนว่าเราเปลี่ยนอย่างไรก่อน และนั่นคือสปีดของการเปลี่ยนแปลง ที่ประหยัดเวลา ที่สุด และประหยัดต้นทุนที่สุด
ความท้าทายที่ยากที่สุดในทุกครั้งของการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นจึงเป็นเรื่องคน เพราะการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ทัศนคติและพฤติกรรมของคนไม่ใช่เรื่องง่าย และโจทย์ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องของการตระหนักหรือไม่ตระหนัก รู้หรือไม่รู้วิธีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องของการลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คล้ายๆกับที่เราทุกคนรู้วิธีการลดน้ำหนัก เรารู้ดีว่าถ้าเราออกกำลังอย่างน้อยวันละ 30 นาที และลดอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลเยอะๆ เราก็จะสามารถลดน้ำหนักลงมาได้อย่างรวดเร็ว แต่จะมีสักกี่คนที่จะทำได้สำเร็จ?
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีพนักงานจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะจะทำอย่างไรให้คนเป็นร้อย เป็นพัน หรือกระทั่งเป็นหมื่นคน มาเปลี่ยนวิธีคิด และทัศนคติ ให้มี “Believe” ที่สอดคล้องเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เราต้องการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในอนาคตอย่างพร้อมเพรียงกันได้
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในยุคนี้ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ องค์กรที่อยู่นิ่งไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลยจะต้องสูญหายไปในที่สุด จึงอยากจะแนะนำให้องค์กรที่สนใจทำเรื่องทรานส์ฟอร์มให้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง ให้เลือกโฟกัสในเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อนเพียงไม่กี่เรื่อง อย่าพยายามทำทุกอย่างพร้อมกันในเวลาเดียว และหากจะเลือกตัวช่วย (Enable) สำคัญที่จะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง Collaboration, Innovation, Engagement หรือค่านิยมใดๆที่สำคัญให้เกิดขึ้น เคล็ดลับสำคัญคือการสร้าง “Trust” หรือความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในทุกระดับ
องค์กรที่มี “High-trust Culture" จะมีความยืดหยุ่น คล่องตัว มีความรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ มีขั้นตอนในการทำงานที่น้อยที่สุด เพราะทุกคนไว้วางใจ และเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน
เหมือนอย่างที่ Mr. Steven MR Covey ผู้เขียนหนังสือ Bestseller “The Speed of Trust” ได้เคยพูดไว้ว่า “Trust is the one thing That Changes Everything”