FTAไทย-EUโอกาสส่งออก ท่ามกลางวิกฤติการค้าโลก
เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่เอกสารจุดยืนของสหภาพยุโรป (อียู) ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศคู่ค้า
โดยเนื้อหาพูดถึงการเจรจาการค้าหลังเกิดวิกฤติโควิด-19และคณะมนตรียุโรปยังได้เผยแพร่เอกสารวิสัยทัศน์ของประธานคณะมนตรียุโรป ในช่วง18เดือนข้างหน้าออกมาด้วย
สรุปว่าทิศทางนโยบายการค้าและความคาดหวังของอียูที่มีต่อประเทศคู่ค้าและคู่เจรจาเอฟทีเอ ที่ยังคงให้ความสำคัญกับระบบการค้าแบบเปิด เป็นไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ มีความเป็นธรรม และมีความยั่งยืน โดยต้องการใช้เอฟทีเอเป็นกลไกในการขยายการค้าและการลงทุน
ปัจจุบันอียูทำเอฟทีเอกับคู่ค้า32ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เป็นต้น และมีแผนผลักดันการเจรจาเอฟทีเอกับอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มต้นในปี2559และการเจรจาเอฟทีเอกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่เริ่มต้นในปี2561ให้สามารถสรุปผลได้ในปี2564รวมทั้งจะปรับปรุงความตกลงทางการค้าที่มีอยู่แล้วกับเม็กซิโกและชิลีให้ทันสมัย และเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย และความตกลงด้านการลงทุนกับจีน
แต่คณะมนตรีแห่งอียูด้านการต่างประเทศ ได้มีมติเมื่อวันที่14ต.ค.2562ให้กระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และได้ตั้งเป้าให้อียูลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Co-operation Agreement)ภายในปี2564ซึ่งจะเป็นความตกลงที่วางรากฐานความสัมพันธ์อียูกับไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ
ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินหน้ารื้อฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู โดยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่าได้เตรียมการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมอบสถาบันอนาคตไทยศึกษา ทำการศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมถึงโอกาสและผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ในเดือนส.ค.2563
ท่าทีของคณะมนตรีแห่งอียูด้านการต่างประเทศที่พร้อมเปิดทางให้ไทยรื้อฟื้นการเจรจาทำเอฟทีเอถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับไทย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยข้อมูลล่าสุดการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ มีมูลค่า97,899ล้านดอลลาร์ติดลบ 3.71 %
หากได้เอฟทีเออียูมาเติมเต็ม ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนได้เพิ่มขึ้น เพราะยังไม่มีใครรู้ได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลงเมื่อใด รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวเมื่อใด
แม้การเจรจาการเอฟทีเอในแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลานาน แต่ถือเป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดีในการเปิดประตูการค้าของไทย เพราะหากมีการประกาศเริ่มต้นการเจรจาเอฟทีเอ ก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ในการทำการค้า การลงทุน ส่งผลดีีต่อผู้ประกอบการของไทยเพราะตลาดอียูถือเป็นตลาดสำคัญหนึ่งของไทย โดยในปี2562ที่ผ่านมา อียูเป็นคู่ค้าอันดับ5ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-อียูมีมูลค่ากว่า44,500ล้านดอลลาร์มีสัดส่วนการค้า9.2%ของการค้าไทยกับโลก
ปัจจุบัน ไทยทำเอฟทีเอกับ 18 ประเทศ มีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่ทำเอฟทีเอทั้งหมด 62.8% เมื่อเทียบกับการค้าของไทยกับโลก และหากได้เอฟทีเออียูมาเติมเต็มอีก 9.2%ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนได้เพิ่มขึ้น