อยากชุมนุมให้ชนะต้องทำให้ถึง 3.5%
การชุมนุมเพื่อแสดงความเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้อุณภูมิการเมืองของไทยสูงขึ้นพอสมควร เป็นเรื่องปกติที่การเคลื่อนไหวนี้
มีทั้งคนเห็นด้วยและคนที่เห็นต่าง คนเรามีความเห็นมีความเชื่อไม่เหมือนกัน สำหรับผู้ชุมนุมเองก็หวังว่าการชุมนุมที่เริ่มขึ้นจะขยายตัวกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ จนทำให้เกิดพลังมากพอ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามข้อเรียกร้องที่ทางแกนนำของผู้ชุมนำยื่นต่อรัฐบาล ประเด็นก็คือต้องมีผู้ร่วมการชุมนุมมากแค่ไหนถึงจะทำให้เกิดผลได้ บทความนี้จะนำเสนอตัวเลขนั้นให้ลองพิจารณากันดู
เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนเอริกา ชาโนเว่ห์และมาเรีย สเตฟาน แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้เผยแพร่ผลการศึกษาลักษณะสำคัญของการชุมนุมที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองเอริกา เริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้ด้วยความสงสัยส่วนตัวว่า การชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรงจะก่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ
เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ เอริกากับมาเรียเลยไปศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงปี ค.ศ.1900 ถึง 2006 บวกกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในวงการ โดยเกณฑ์ขั้นต้นที่ใช้ในการคัดเลือกการชุมนุม คือ จะต้องสามารถบรรลุผลได้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเป็นระบบ หากเป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้กำลัง หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีการแทรกแซงจากทหาร หรือ “ปัจจัยภายนอก” ก็จะไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้เช่นกัน
สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ประเมินว่าเป็นการชุมนุมที่สงบ จะประกอบไปด้วยตัวชี้วัดหลายตัว แต่ตัวที่สำคัญ คือ 1) จะต้องไม่มีการทำร้ายร่างกายและไม่ส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้อื่นจนเกินไป 2) ไม่มีการวางระเบิด วางเพลิง และลักพาตัว 3) ไม่มีการทำลายทรัพย์สินสาธารณะและทรัพย์สินส่วนบุคคล
การศึกษาครั้งนี้พบว่า หากเป็นการชุมนุมด้วยความสงบที่มีจำนวนผู้ออกมาเคลื่อนไหวไม่น้อยกว่า 3.5% ของประชากร โอกาสที่การเคลื่อนไหวนั้นจะล้มเหลวมีน้อยมาก ตัวอย่างที่เอริกายกขึ้นมาพูดบ่อย ๆ คือ กรณีของการปฏิวัติด้วยการชุมนุมร้องเพลงในเอสโตเนียช่วงทศวรรษที่ 1980(Singing Revolution) และการปฏิวัติดอกกุหลาบในจอร์เจีย (Rose Revolution) ช่วงปี ค.ศ. 2003จากหลักฐานจำนวนมากนี้เอง ทำให้เกิด“กฎ 3.5%”ซึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานเพื่อการประเมินโอกาสสำเร็จของการร่วมชุมนุม
ถ้าเอากฎ 3.5% มาใช้กับการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประชากรช่วงอายุ 18 ถึง 22 มีประมาณ 4,317,497 คน 3.5% ของคนกลุ่มนี้ก็เท่ากับ 151,112 คน คำถามแรกที่แกนนำผู้ชุมนุมต้องกล้าถามตัวเองอย่างเป็นกลางคือ ตอนนี้คนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 18 ถึง 22 ปีที่เข้าร่วมแบบเห็นหน้าเห็นตา รวมแล้วถึง 1.5 แสนคนหรือยัง ถ้ายัง ทำอย่างไรถึงจะทำให้มีผู้ร่วมชุมนุมได้ตามเป้าหมายนี้
โจทย์ที่ท้ายทายยิ่งกว่าคือ โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลในประเทศที่มีการเลือกตั้ง จะให้ความสำคัญกับความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกกลุ่ม การชุมนุมที่มีคนแค่กลุ่มเดียว ไม่ได้เป็นตัวแทนที่ดีของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด จึงมีโอกาสจบลงด้วยความรุนแรง และมักจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้วยเหตุนี้ หากต้องการจะให้การชุมนุมครั้งนี้มีพลังมากพอ ผู้ชุมนุมควรหาทางดึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มอื่นที่อาจจะไม่ใช่ “คนรุ่นใหม่” เหมือนพวกเขา ให้มาเป็นแนวร่วมให้ได้ จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2562 จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยมี 51,419,975 คน 3.5% ของคนจำนวนนี้จะเท่ากับ1,799,699หรือประมาณ 1.8 ล้านคน ถ้าได้ยอดตามนี้ ประวัติศาสตร์ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านยืนยันว่าโอกาสสำเร็จมีแน่นอน
คำถามที่ต้องผู้ชุมนุมต้องกลับมาถามตัวเองก็คือ วิธีการที่ใช้อยู่ในตอนนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ เป้าหมายมีความชัดเจนเพียงพอ และเป็นเป้าหมายร่วมของคนไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านคนหรือเปล่า ถ้ายังไม่ใช่ ควรทำอย่างไรถึงจะทำให้คนเหล่านี้เห็นพ้องตามไปด้วย นั่นหมายความว่า รายละเอียดปลีกย่อยแม้แต่การจะขึ้นป้ายก็ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่อยากจะเขียนอะไรก็เขียน ต้องคุมโทนคุมเนื้อหาให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องหลักเท่านั้น การใช้คำการแสดงออกต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความสุภาพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมมีวุฒิภาวะ ไม่ได้มาชุมนุมตามแฟชั่น ไม่ได้ชุมนุมเพื่อระบายอารมณ์ เป็นการชุมนุมเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน และยินดีจะทำตัวให้เหมาะสมเพื่อให้เป้าหมายนั้นบรรลุผล
ที่จะฝากเอาไว้เป็นเรื่องสุดท้ายก็คือ ถ้าตีความตามนิยามของเอริกาและมาเรียเราจะไม่นับการชุมนุมออนไลน์มารวมอยู่ในยอด 1.5 แสนสำหรับคนรุ่นใหม่ และ 1.8 ล้านของคนทั้งประเทศ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราแสดงตัวจริงเสียงจริงเท่านั้น