หาา..! ฉีดโคเคน 'รักษาฟัน' ตลกร้าย..สะเทือนวงการหมอฟัน?
งงเป็นไก่แตก.. พลันได้ฟังชี้แจง "คดีลูกเศรษฐีขับรถชนตำรวจตาย" ตรวจพบโคเคนในร่างกาย เพราะทำฟัน เลยหลุดข้อหาเสพยาซิ่งรถหรู
ชาวบ้านร้านตลาด ใครได้ยินได้ฟัง ร้องโอวว์ชนิดที่อึ้งทึ่งงง พูดกันปากต่อปากว่า "มันใช่หรือหว่า.." แล้วอย่างนี้แล้วไปทำฟัน ในโรงพยาบาลหรือคลินิคต่างๆ จะรู้ได้ไงว่า หมอไม่ได้ฉีดยาผสมโคเคนในการรักษาทำฟัน
เรียกว่า "งานเข้าหมอฟัน" ไปทั้งวงการ ต้องดาหน้ากันออกมาชี้แจงความเป็นจริงของข้อมูลอีกด้าน
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาทันตแพทย์ชุมชน คณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า.. โคเคนใช้ในการทำฟันจริงหรือ ?
ยาชาที่หมอฟันใช้ในปัจจุบันที่ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ลิโดเคน แม้จะลงท้ายด้วย เคนเหมือนกัน แต่เป็นคนละตระกูลกันกับ โคเคน
โคเคน เคยใช้เป็นยาชา จัดอยู่ในตระกูล Esters ที่เคยใช้มาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันไม่มีหมอฟันคนใดในโลกใช้อีก เพราะว่าพบอาการแพ้ยาได้มากและมีฤทธิ์เสพติด ปัจจุบันยาชาที่หมอฟันใช้จะเป็น ยาชาตระกูล Amides ที่พัฒนาขึ้นมาเช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อาติเคน ซึ่งปลอดภัยกว่า มีโอกาสพบการแพ้ยาชาได้น้อยมากๆๆๆ
โคเคนที่เป็นสารเสพติด กับ ลิโดเคนที่ใช้เป็นยาชา อยู่กันคนละตระกูล โครงสร้างทางเคมี ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ต้องห่วงนะครับว่า เวลาหมอฟันฉีดยาชาแล้ว จะตรวจพบโคเคนในกระแสเลือด 555
ดูเหมือนกลายเป็นเรื่องตลกร้ายเกินไปหรือเปล่า?.. หมอฟันของลูกมหาเศรษฐี จะไม่ใช้ยาใหม่ๆที่ดีกว่าในการรักษาหรือ ขณะเดียวกัน เพจ ห้องทำฟันหมายเลข 10 อธิบายว่า..
เรื่องนี้จะไม่แปลกถ้าเป็นเมื่อ ศตวรรษที่ 18 !!! หมอฟันคนนั้นต้องนั่งไทม์แมชชีนมาแน่นอน
หนึ่งในยาที่ใช้มากที่สุดในทางทันตกรรม คือ ยาชา โดยยาชาตัวแรกที่นำมาใช้ทางการแพทย์คือโคเคน (cocaine) ในปี ค.ศ. 1859 (150 ปีมาแล้ว!!!) แต่ด้วยข้อเสียของโคเคนที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น และมีฤทธิ์เสพติด จึงมีการพัฒนายาที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายโคเคน ชื่อ Procaine ขึ้นในปีค.ศ. 1904
แต่ในปีค.ศ. 1948 มีการนำยาชาที่มีสูตรโครงสร้างต่างไปจาก cocaine และ procaine ได้แก่ lidocaine และมียาชาที่พัฒนาต่อเนื่องตามมาได้แก่ mepivacaine (ค.ศ. 1965) prilocaine (ค.ศ. 1983; ยาชนิดนี้ไม่มีใช้ในประเทศไทย) และ articaine (ค.ศ. 2000)โดยยาชาทั้งสามกลุ่มนี้มีสูตรโครงสร้างคนละแบบกับโคเคน รวมทั้งกระบวนการขับยาออกจากร่างกายก็ได้สารเคมีคนละกลุ่มกับโคเคน
คนก็ยังอาจสงสัยยาชามันชื่อลงท้าย "เคน" เหมือนกัน(แต่จริงๆมันก็คนละโครงสร้างหละนะ) ถ้าไปฉีดยาชา"ลิโดเคน"ทำฟันมาจริงแล้วไปตรวจ"โคเคน"มันจะขึ้นผลหลอกว่ามีโคเคนหรือปล่าว(false positive)
จากการวิจัยก็บอกว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แปลว่าตรวจเจอโคเคนก็คือโคเคน อย่ามาโบ้ยยาชาที่รักของหมอฟัน
ขณะที่ ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข เปิดเผย กับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีที่มีข่าวระบุ ว่าทันตแพทย์ ใช้ยาที่มีส่วนผสมของสารโคเคน ในการรักษาฟันผู้ป่วย ว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และพัฒนาไปไกลมากแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีการนำสารโคเคน ที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรมอย่างแน่นอน
พูดก็พูดเถอะ "ซิเดอร์" ไล่เรียงความเห็นของทั้งอาจารย์หมอฟัน และบิ๊กหมอในกระทรวง เพื่อบอกว่า ฉีดโคเคนรักษาฟัน ในพ.ศ.นี้ มันหลอกใครไม่ได้หรอก..โอย ใครคิดมุกนี้มาหลอกชาวบ้านเนี่ย อยากหัวเราะจนเหงือกและฟันแห้งจริงๆ ..มันตลกร้ายที่สุด!!