ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คุณอนันต์ ไร้โทษมหันต์
ท่านเชื่อหรือไม่ กรณีคนใจดี อุตส่าห์เอาอาหารไปให้คนเร่ร่อนกลับโดนไล่ตีจนถูกรถชนตาย กรณีโจรผู้ร้ายชุกชม กรณีฉุดคร่าข่มขืน หรือ
กรณีชาวบ้านชาวบ้านประท้วงกระโจมอกอาบน้ำโคลนกลางถนน ล้วนเกี่ยวข้องกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งสิ้น
ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา ก็ปรากฏว่า ราชการสั่งงดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นัยว่าเป็นมาตรการลดภาระประชาชน แต่แท้จริงแล้วเป็นการ “ยกภูเขาออกจากอก” ของคนรวยๆ ปัญหาที่ตามมา ส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ อบต. เทศบาล อบจ.และอื่นๆ ขาดรายได้ ทำให้บริการสาธารณะไม่มีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อระบบสวัสดิภาพและสวัสดิการสังคม ความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สินจึงตกอยู่กับประชาชน
ผู้เขียนมีโอกาสพารัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผอ. และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดูงานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในหลายประเทศ ทั้งในอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ มาแล้วแต่ปรากฏว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทย กลับออกมาแตกต่างจากนานาอารยประเทศ แทนที่ภาษีนี้จะลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในความเป็นจริงกลับแทบไม่แตะต้องคนรวยเลย มีข้อยกเว้นมากมายที่ในต่างประเทศไม่มี เช่น
- ผู้ที่ปลูกพืชในที่ดิน ก็กลับกลายเป็นเกษตรกร เสียภาษีในอัตราต่ำมาก แถมยังได้ยกเว้นอีกหลายปี
- ในกรณีนำวัวมาเลี้ยงในพื้นที่ เจ้าของที่ดินก็กลายเป็นเกษตรกร แทบไม่ต้องเสียภาษีอีก
- ในกรณีที่อนุญาตให้ทางราชการใช้ที่ดิน เจ้าของที่ดินก็ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ใช้เป็นที่จอดรถ เป็นสนามกีฬาชุมชน หรือเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
ในบัญชีแนบท้ายการประกอบการเกษตรที่เป็นการทำไร่ ปลูกผัก ปลูกไม้ผลยืนต้น ปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะ หรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสมที่มีชนิดพืชในอัตราขั้นต่ำโดยกำหนด 51 พืชชนิด เช่น กล้วยต้องปลูก 200 ต้น/ไร่ สตรอว์เบอร์รี 10,000 ต้น/ไร่ ส้ม ละมุด ลางสาด ลองกอง 45 ต้น/ไร่ ลิ้นจี่ ลำไย 20 ต้น/ไร่ มะละกอยกร่อง 100 ต้น/ไร่ มะนาว 50 ต้น/ไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย 1 ตัวต่อ 5 ไร่ ซึ่งการประกาศดังกล่าวเป็นไปข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ
กรณีแบบนี้เป็นกลยุทธ์ในการเลี่ยงภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายของคนรวยๆหรืออย่างญี่ปุ่นในช่วง 30-40 ปีก่อน ที่มีชาวบ้านทำนาในใจกลางเมืองเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ตามการเลี่ยงแบบนี้ไม่มีแล้ว ช่องโหว่ต่างๆ ถูกปิดไปแล้ว แต่ที่ไทยของเรายัง (จงใจ) เปิดช่อง (อ้าซ่า) เอาไว้
ถ้ามีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัญหาเหล่านี้ก็จะ (แทบ) หมดไป เช่น
- คนใจดีอุตส่าห์เอาอาหารไปให้คนเร่ร่อนกลับโดนไล่ตีจนถูกรถชนตาย
- กรณีโจรผู้ร้ายชุกชม
- กรณีฉุดคร่าข่มขืน
- กรณีจักยานยนต์ (บังอาจ) วิ่งบนทางเท้า หรือ
- กรณีชาวบ้านชาวบ้านประท้วงกระโจมอกอาบน้ำโคลนกลางถนน
เพราะท้องถิ่นจะมีเงินจากภาษีเพียงพอในการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยว่าจ้าง “ตำรวจชุมชน” มาคอยตรวจตรา ไม่ปล่อยให้มีการประกอบอาชญากรรมได้ง่ายๆ เช่น ใน กทม.มีขนาด 1,568.737 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) มีที่อยู่อาศัยอยู่ 2,050,411 หน่วย หรือในอัตรา 1,307 หน่วยต่อ 1 ตร.กม. ถ้าเก็บเงินภาษีแค่หน่วยละ 50 บาทต่อเดือน ก็จะได้เงิน 65,350 บาท เพียงพอที่จะจ้าง “ตำรวจชุมชน” คนละ 15,000 บาทได้ 4 คน (2 ผลัด) คอยลาดตระเวนในพื้นที่ 1 ตร.กม.ได้ โอกาสการประกอบอาชญากรรมก็ลดลงมาก ยาบ้า หรืออาชญากรรมอื่นๆ ก็น่าจะลดลงด้วย
นี่เพียงแค่เก็บภาษีแค่ 50 บาทต่อที่อยู่อาศัย 1 หน่วยต่อเดือน ถ้าเก็บมากกว่านี้ เช่น ปีละเพียง 1,000 บาท ก็อาจมีเงินพอมาพัฒนาท้องถิ่นได้อีกมากมาย และยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นก็ทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากทรัพย์สินในท้องที่นั้นๆ ย่อมเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น ถ้ามีเงินมาจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนภาษากับในโรงเรียนท้องถิ่นก็จะทำให้โรงเรียนนั้นมีผู้ปกครองสนใจส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น มาซื้อบ้านในบริเวณใกล้เคียงทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มพูน
ตามหลักกฎหมายภาษีทรัพย์สินนั้น ผู้ที่มีทรัพย์สินราคาสูง ก็ต้องเสียภาษีสูง ผู้มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่าก็เสียภาษีน้อยกว่า การเสียภาษีก็เพื่อนำมาดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินของเรา อันที่จริง เราก็มีการเก็บสิ่งที่คล้ายภาษีนี้เช่นการเก็บค่าส่วนกลาง เพื่อมาบำรุงรักษา ในชุมชนใดมีการดูแลรักษาดี มูลค่าทรัพย์สินก็เพิ่ม ในชุมชนใดดูแลไม่ดี มูลค่าทรัพย์สินก็ตกหรือไม่เพิ่มขึ้น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นความจำเป็นๆ อย่างยิ่ง
ในสหรัฐจัดเก็บภาษีในอัตราประมาณ 1-3% ของมูลค่าตามราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาด แต่ของไทยจัดเก็บในอัตราที่ต่ำมากๆ เราควรให้การศึกษากับประชาชนให้ชัดเจนว่าภาษีนี้ “ยิ่งให้ ยิ่งได้” อย่าไปกลัวกับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 0.5% เป็นอย่างสูง เพราะในแต่ละปี มูลค่าของทรัพย์สินของเราก็เพิ่มขึ้นมาประมาณ 3-5% อยู่แล้ว ยิ่งในหลายๆ ทำเลที่อยู่ในใจกลางเมือง หรือมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ราคาที่ดินก็อาจเพิ่มสูงถึง 10% ต่อปีเลยทีเดียว การเสียภาษีแค่ 0.5% จึงไม่พึงเสียดาย ทุกวันนี้ผู้ที่มีจักรยานยนต์เก่าๆ สักคัน ก็เสียภาษีและค่าประกันต่างๆ รวมกันเกือบ 500 บาท หรือราว 1% ของมูลค่าจักรยานอยู่แล้ว แต่ในกรณีไทย เรากลับพยายามหาช่องทางในการเลี่ยงภาษีกันอย่างสุดชีวิต
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงกล่าวว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คุณอนันต์ ไร้โทษมหันต์”