วัฒนธรรมนวัตกรรม การมีส่วนร่วมของพนักงาน
ยังคงอยู่กับวัฒนธรรมและวิถีการทำงานแบบเดิม แม้จะตระหนักว่าจะต้องลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า
แน่นอนองค์กรส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบนี้ นัยหนึ่งอาจเนื่องมาจากภาวะผู้นำของผู้บริหารองค์กรที่ตัดสินใจช้าหรือไม่กล้าฟันธงต่อหนทางใหม่ที่จะต้องก้าวไปในอนาคต อีกนัยหนึ่งก็เป็นความกลัวและความไม่มั่นใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองของพนักงาน ทั้งๆที่รู้ว่าความรู้ ทักษะ และความสามารถที่เคยใช้ได้ดีในอดีต เริ่มที่จะใช้ไม่ได้แล้วในบริบทปัจจุบัน หากแต่ทุกคนก็คงยังไม่กล้าขยับขับเคลื่อนตัวเองไปลองสิ่งใหม่ ความตื่นตัวในการยกระดับความสามารถตัวเองพร้อมไปกับการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่จึงไปไม่ได้
วัฒนธรรมนวัตกรรม (a culture of innovation) ไม่ได้มีความหมายถึงแค่ชุดความคิด วิถีปฏิบัติ ตลอดจนการอยู่ร่วมกันของทุกคนในองค์กร เพื่อทำให้เกิดความคิดที่แตกต่าง และการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการของการปลูกฝังทัศนคติของคนในองค์กร ให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และสอดคล้องกับแนวทางที่องค์กรกำลังขับเคลื่อนไปตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ ที่สำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่อาจแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวัฒนธรรมเดิม เพราะวัฒนธรรมของคนในวิถีเกษตร วัฒนธรรมของคนในภาคอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต (OEM) แตกต่างจากวัฒนธรรมของคนในแวดวงธุรกิจสร้างสรรค์ และองค์กรนวัตกรรมอย่างมาก
Jessica Day ได้เขียนบทความบนเว็บไซต์ IdeaScale เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ในชื่อ Exploring the difference between “Anything Goes” and a Culture of Innovation ไว้อย่างน่าสนใจ เธอบอกว่า วัฒนธรรมนวัตกรรมช่วยสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร ผู้นำและพนักงานต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อม พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จับต้องได้ (physical space) และพื้นที่เสมือนในโลกอินเทอร์เน็ต (cyber space) ที่ทุกคนสามารถจะแสดงแนวคิดของตน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และนำไปสู่การรวมกลุ่มทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ความจริงแล้วไม่เลย แม้ว่าการส่งเสริมให้เกิดการนำเสนอไอเดียใหม่ และจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ดูจะเป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ แต่อีกด้านหนึ่งทุกคนโดยเฉพาะผู้บริหารองค์กรก็มักจะคาดหวังต่อความสำเร็จจากไอเดียเหล่านั้น มันจึงไม่ได้แค่กระตุ้นทุกคนแล้วบอกว่า “anything goes” ผลักดันหรือทำอะไรบางอย่างก็ได้ให้เดินหน้าไปเท่านั้น แต่ความจริงแล้ววัฒนธรรมนวัตกรรมขององค์กรยังหมายรวมถึงการประยุกต์ความรู้ความสามารถที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละด้านแต่ละสาขาและความเชี่ยวชาญชำนาญของแต่ละคน มาคิดค้นทดลองและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่แบบก้าวกระโดดด้วย จากงานวิจัยด้านนวัตกรรมแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 84 ของผู้บริหารองค์กรเห็นตรงกันว่า “การคิดเชิงนวัตกรรม (innovative thinking) มีความสำคัญต่อความเจริญเติบโตขององค์กร” เป็นผลให้ธุรกิจมากมายส่งเสริมการสร้างทีมนำเพื่อผลักดันนวัตกรรม (innovation leadership teams) ให้เกิดขึ้น
แต่ความอดทนต่อความล้มเหลว (Tolerance for Failure) เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญและเป็นเสมือนกำแพงใหญ่ที่หลายองค์กรมักถอดใจและหันหลังกลับ เพราะการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับความไม่แน่นอน (uncertainty) อย่างชัดเจน ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่มันท้าทายความรู้ความสามารถมาก ตัวเลขจากงานวิจัยด้านนวัตกรรมทางธุรกิจแสดงให้เห็นว่ามีผู้บริหารเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่พอใจกับผลงานด้านนวัตกรรมขององค์กร เมื่อไม่เป็นดังที่คาดหวัง จำนวนไม่น้อยก็เริ่มหันเหกลับไปทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าชำนาญ จึงมีองค์กรไม่มากนักที่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับพนักงาน ท้าทายและให้กำลังใจกันและกันจากความล้มเหลวบางส่วน เพื่อที่จะปรับความคิดและลองหาโอกาสใหม่ๆที่จะนำพานวัตกรรมขององค์กรไปสู่ความสำเร็จให้ได้
Jessica Day เน้นย้ำถึงความสำคัญของคำสองคำคือ Commitment to Experimentation (ความมุ่งมั่นตั้งใจในการทดลองเพื่อคิดค้นสิ่งใหม่) ไม่มีใครรู้ว่าผลการทดลองจะเป็นเช่นไร แต่มันเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขปริศนาและเกิดคำตอบจากคำถามที่เราตั้งไว้ มันให้ความรู้ใหม่ๆที่อาจะทำให้เกิดกระบวนการ สินค้าและบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้า และ Collaboration with Accountability (ความร่วมมือของทุกคนที่มาพร้อมกับการร่วมรับผิดและรับชอบ) แสดงถึงความพยายามและความทุ่มเทของทุกคนในทีมที่จะมีส่วนร่วมในทุกหนทางตลอดกระบวนการ การมีส่วนร่วมจึงไม่ได้หมายความถึงแค่เพียงแผนกหรือฝ่ายเดียวกันเท่านั้น หากแต่ความสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือกันแบบข้ามแผนกข้ามฝ่าย เพราะความสามารถที่แตกต่างหลากหลายช่วยทำให้นวัตกรรมมีความสมบูรณ์และเป็นจริงได้
บริษัทชั้นนำอย่าง 3M ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างมาก ขยายงานด้านห้องปฏิบัติการวิจัย (Lab) ไปในแต่ละด้าน และจัดให้มีเวทีที่นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการต่างๆจะมาแสดงผลงานและรายงานความคืบหน้า (ทั้งที่สำเร็จและที่ล้มเหลว) เคยมีคนกล่าวว่า นวัตกรรมมากมายที่ผลิตและคิดค้นขึ้นภายใต้ 3M เกิดขึ้นจากการรวมเอาผลงานการทดลองจากห้องปฏิบัติการวิจัยต่างๆมารวมกันอย่างน้อย 3-4 ผลงาน เพื่อประกอบรวมกันเป็นนวัตกรรมใหม่
จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ที่รวมเอาหลากหลายเทคโนโลยีเข้าไว้ในตัวมัน ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงสมาร์ทโฟนยุคแรกแม้ว่าจะโดดเด่นแต่ก็ยังมีความสามารถที่จำกัด แต่ปัจจุบันแทบจะรวมเอาสิ่งต่างๆที่เมื่อก่อนเราต้องซื้อแยกใช้เข้าไว้ในตัวมันหมด เช่น นาฬิกา เข็มทิศ เครื่องคิดเลข พิกัดดาวเทียม อุปกรณ์ระบุตำแหน่ง กล้องถ่ายภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหว ความสามารถด้านการเป็นคอมพิวเตอร์ ระบบความปลอดภัยผ่าน Biometrics และยังเปิดช่องให้ต่อเชื่อมกับอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงเซนเซอร์ที่หลากหลาย ทำให้กลายเป็นเครื่องมือวัดสารพัดอย่าง
นวัตกรรมจึงไม่ใช่แค่ความคิดหรือการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ แต่ยังเป็นกระบวนการของการนำความคิดที่ผ่านการกลั่นกรองและใช้ได้มาค้นคว้าทดลองจนก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ (invention) หรือต้นแบบ (prototype) ที่เมื่อพัฒนาต่อจนสมบูรณ์สามารถจะสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดได้ในที่สุด วัฒนธรรมแบบร่วมด้วยช่วยกัน “คิด(ใหม่)” และ “ทดลองค้นคว้า(หาสิ่งใหม่)” จึงเป็นวัฒนธรรมนวัตกรรมที่ควรปลูกฝังและทำให้เกิดในทุกองค์กร