เปรียบเทียบ 'การประท้วงในไทย - ต่างประเทศ'
ไทยได้รับการยกย่องจากทั่วโลก จัดการกับการระบาดโควิดได้ดี แต่ราคาค่างวดที่ต้องแลกกับความเข้มข้นในการควบคุมโรค
การแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบของการปราศรัย หรือเดินขบวนประท้วงนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้ข้อจำกัดคือ ความเคารพและไม่ก้าวล่วงต่อสิทธิของผู้อื่น ซึ่งในช่วงระยะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤติการระบาดของโควิดในระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมานั้น ก็คงยังมีการเดินขบวนประท้วงมากมายในต่างประเทศ อาทิ การเดินขบวนประท้วง กรณีมรณกรรมของ George Floyd ในสหรัฐ หรือการประท้วงรัฐบาลเลบานอนล่าสุดจากกรณีการระเบิดของคลังสินค้าเคมีในกรุงเบรุต
การประท้วงในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้วอย่างแถบยุโรป มักจะมีความเกี่ยวข้องหรือสาเหตุมาจากเรื่องปากเรื่องท้อง อาทิ การขึ้นค่าโดยสารสาธารณะ การขึ้นค่าสาธารณูปโภค ซึ่งก็กระทบกับปากท้อง โดยตรงของประชาชน โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเก็บภาษีค่อนข้างสูง
ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็มีการประท้วง เช่นกัน ส่วนใหญ่เกี่ยวกับปากท้องโดยตรงของนักศึกษา อาทิ การประท้วง กรณี ค่าเทอมและค่าธรรมเนียมทางการศึกษา ค่าหอพัก เป็นต้น
การประท้วงในประเทศไทย มีทั้งการประท้วงทางการเมืองและการประท้วงเพื่อปากและท้อง เช่น ม็อบเกษตรกรต่างๆ ซึ่งก็มีมากมายทั้งที่ใช้ความรุนแรงและการประท้วงชุมนุมโดยสงบในระยะสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่สังคมสามารถเรียนรู้จากทศวรรษแห่งโอกาสที่สาบสูญได้คือ และมันก็จะผ่านพ้นไป เพราะทุกปัญหามีทางออก เช่นเดียวกับการปราศรัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำลังถูกจับตามองจากสังคมนั้นก็เช่นกัน
การประท้วงปราศรัยที่คำนึงถึงสิทธิทั้งของตัวเองและผู้อื่นถือเป็นสีสันของประชาธิปไตย เพราะประเทศไทยมีความอิสระเสรี ดังนั้นการแสดงออกถึงความเห็นผ่านช่องทางต่างๆทั้งออนไลน์และออฟไลน์จึงสมควรทำได้ และสมควรส่งเสริม เพื่อเป็นเวทีให้มีการพบปะพูดคุยแสดงออกเพื่อสร้างบทสนาที่เป็นมิตรเพื่อให้เห็นปัญหาของอีกฝ่าย เกิดการประนีประนอมและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนร่วมชาติ
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะอัตราการเกิดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และในอีก 10 ปี ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบเช่นญี่ปุ่น ผู้สูงอายุเหล่านี้มีบุญคุณกับประเทศ เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวที่ประเทศจะต้องพึ่งพาอย่างมากในอนาคตอันใกล้ในการหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตและเป็นแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ เงินภาษีของแรงงานหนุ่มสาวนี้จะถูกนำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศ ดังนั้นเสียงของประชาชนคนรุ่นใหม่จึงมีสำคัญเท่าเทียมกันกับเสียงของทุกคนในประเทศ
ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีความเชื่อในทางการเมือง หรือสถาบันอื่นๆอย่างไร ก็ล้วนยังทำหน้าที่ของตนเอง นักศึกษายังคงเรียนรู้เพื่อที่จะจบออกมาเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศ ยังคงไปเลือกตั้ง ยังคงใช้สิทธิแสดงความรักประเทศผ่านช่องทางต่างๆ คนวัยทำงานก็ยังคงไปทำงานตามปกติ ยังคงจ่ายภาษีอย่างถูกกฏหมาย และยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตรวจสอบองค์กรหรือสถาบันที่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชน เพราะถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคนไทยทุกคน
ประเทศไทยของเรามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีเอกลักษณ์ และก็เป็นประเทศที่มีเสรีให้โอกาสทุกคน ความภูมิใจในรากเหง้า ความเป็นคนจิตใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจเห็นใจผู้อื่นนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีชาติใดเหมือน ดังนั้นการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างเปิดเวทีให้มีการถกเถียงพูดคุยจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาชาติ เพราะความเห็นที่แตกต่างนั้นแท้จริงแล้วเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ หากตั้งสติตั้งใจฟังอย่างเป็นกลาง อย่างไม่มีอคติ