โจชู:แคว้นผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นปัจจุบัน
กรณีอิเคดะยะ ทำให้ชาวโจชูโกรธแค้นเป็นอย่างมาก ผู้อาวุโสของแคว้น 3 คนมีความเห็นว่า ควรจะต้องลดความโกรธแค้นนี้ลงโดยการยกกำลังไปที่เกียวโต
เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษจากพระจักรพรรดิ กล่าวกันว่ามีกำลังทั้งหมดประมาณ 3 พันคน กองกำลังนี้ยกเข้าเกียวโตจากหลายด้าน แต่ก็ถูกกองกำลังรักษาพระนครตีแตกพ่ายไปทุกด้าน เหตุการณ์นี้เกิดในวันที่ 24 มิถุนายน 1864 หลังจากนั้นอีก 1 เดือน ฝ่ายโจชูก็ยกกำลังประมาณ 2 พันคนบุกเข้าเกียวโต อีกครั้งหนึ่ง แต่กล่าวกันว่ากำลังฝ่ายรักษาพระนครมีถึง 2 หมื่นคน จึงไม่มีทางสู้เลย จนกระทั่ง ฝ่ายโจชูต้องใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าที่พระราชวัง โดยมีเป้าหมายที่กองกำลังรักษาพระนคร แต่พฤติกรรมนี้ทำให้โจชูกลายเป็นศัตรูของราชสำนักอย่างปฏิเสธไม่ได้ อีกทั้งบ้านเรือนถูกเผาผลาญทำลายไปกว่า 3 หมื่นหลัง นี่คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า คินมอนโนะเฮน (禁門の変)หรือ ฮามางูริโงะมอนโนะเฮน (蛤御門の変) ถึงแม้ว่าฝ่ายโจชูจะถูกกระทำก่อนในเบื้องต้น แต่เหตุการณ์นี้ทำให้กลายเป็นผู้ร้ายเต็มประตู
ในเดือนกรกฎาคม 1864 นั้นเอง โทกุงาวา อ้างพระบรมราชโองการโปรดเกล้าส่งกองทัพ ที่ประกอบด้วยแคว้นต่างๆ 35 แคว้นไปปราบโจชู รวมกำลังทั้งสิ้น 150,000 คน แต่ก่อนหน้าที่จะบุกเข้าโจชูจริงๆ โจชูก็พ่ายแพ้ต่อกองกำลังพันธมิตรอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐ ในเดือนสิงหาคมเสียก่อน โจชูจึงยอมกลับมาเชื่อฟังต่อโทกุงาวาและขอพระราชทานอภัยโทษ ผู้นำกองกำลังต่างๆ ของแคว้นถูกบังคับให้คว้านท้อง หรือไม่ก็ถูกประหารชีวิต
หลังจากนั้น นโยบายของโจชู หมุนกลับ 180 องศา ฝ่ายหัวรุนแรงที่ต่อต้านต่างชาติเห็นว่า ควรจะเรียนรู้วิชาการตะวันตก และนำอาวุธพร้อมระบบกองทัพสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อลดแรงกดดันต่างชาติ มากกว่าจะใช้กำลังอย่างที่แล้วๆ มา กลายเป็นว่า โจชูมีนโยบายตรงกันกับแคว้นสัทสุมะ ที่เน้นการเปิดประเทศ ในที่สุดนโยบายจงรักภักดีและต่อต้านต่างชาติ จึงเปลี่ยนเป็นนโยบายล้มโทกุงาวาตั้งแต่นั้นมา
โจชูนั้นเกลียดสัทสุมะเข้ากระดูก ก็ด้วยการที่สัทสุมะเข้ามาแทรกแซงในเหตุการณ์ “คิมมอน โนะเฮน” มิฉะนั้น โจชูคงไม่ถูกประณามว่าเป็น “ศัตรูแห่งราชสำนัก” หรือ 朝敵 (โจเตกิ) สถานการณ์ทำให้แคว้นทั้ง 2 นี้จะต้องเป็นพันธมิตรต่อกัน เมื่อพูดถึงพันธมิตรคู่นี้ หลายๆ คนคงจะคิดถึงแต่ ซากาโมโต ริวมะ (坂本龍馬) ไซโก ทาคาโมริ (西郷隆盛) และคิโด ทาคาโยชิ (木戸孝允) แต่ที่จริงแล้วเกี่ยวข้องกับบุคคลอีกจำนวนมากโดยเฉพาะจากแคว้นโดสะ กล่าวคือ คะโทริ โมโตฮิโกะ (楫取素彦) เพื่อนสนิทของโยชิดะ โชอิน มีบทบาทมากที่สุด แต่การเจรจาเบื้องต้น เป็นไปด้วยความยากลำบากมาก อีกทั้งคิโด ทาคาโยชิ ผู้แทนฝ่ายโจชูรู้สึกไม่พอใจที่ไซโก ทาคาโมริ ไม่ยอมปรากฏตัวมาพบด้วย เหตุการณ์นี้คลี่คลายภายหลังจากที่ฝ่ายสัทสุมะเอง รู้สึกผิดและแก้ตัวโดยการซื้ออาวุธสมัยใหม่จากต่างประเทศแล้วส่งต่อให้โจชู แน่นอน สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ฝ่ายหัวรุนแรงของโจชู อยากได้เต็มประดา เพื่อใช้ต่อกรกับโทกุงาวา อีกด้านหนึ่ง อิโนะอุเอะ คาโอรุ (井上馨) 1 ใน 5 สุภาพบุรุษโจชูที่ไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างลับๆ รุ่นแรก มีบทบาทเป็นอย่างสูงด้วยการเดินทางไปพูดคุยกับ ฝ่ายสัทสุมะ สร้างความเข้าใจปัดเป่า ข้อขุ่นเคือง ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่เคยมีมา และ เห็นชอบร่วมกันในความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนฝ่ายโจชูก็สนองตอบความต้องการจัดหาเสบียงอาหารจากฝ่ายสัทสุมะ
ในที่สุด เคอิโอ (慶応) ปีที่ 2 หรือ 1865 คิโด ทาคาโยชิ และ ไซโก ทาคาโมริ ก็ได้พบกันที่ที่พักผู้แทนสัทสุมะ ในเกียวโต และบรรลุถึงข้อตกลง 6 ข้อของความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นมาตรการต่อต้านโทกุงาวาได้เป็นอย่างดี ในยามที่โทกุงาวากำลังมีแผนการปราบปรามโจชูครั้งที่ 2 ฝ่ายโทกุงาวาเองก็ล่วงรู้ถึงความเคลื่อนไหวที่ไม่ธรรมดาของฝ่ายโจชู ผู้นำแคว้นที่แสดงท่าทีนอบน้อมเชื่อฟัง มีการเปลี่ยนแปลง และ กลุ่มที่เคลื่อนไหวมีการซื้ออาวุธสมัยใหม่จากต่างประเทศ
เคอิโอ ปีที่ 1 หรือ1865 โทกุงาวาได้รับพระบรมราชโองการให้ปราบโจชู ปีต่อมามีการลดศักดินาของโจชูลง 1 แสนโคขุ และ ให้กักบริเวณเจ้าแคว้นพ่อลูก แต่ว่าโจชูที่พร้อมจะทำสงครามอยู่แล้ว ไม่ปฏิบัติตาม
แม้ว่าพระบรมราชโองการปราบโจชูจะออกมาแล้ว แต่การยื่นคำขาดต่อโจชู กลับกระทำในปีรุ่งขึ้น นั่นหมายความว่าฝ่ายที่จะปราบไม่อาจสร้างขวัญกำลังใจขึ้นมาได้ ฝ่ายสัทสุมะ ก็อ้างเหตุผลร้อยแปดพันประการที่ไม่อาจส่งกำลังร่วมกับฝ่ายโทกุงาวาได้ ทางด้านระดับสูงของโทกุงาวา ก็รู้สึกว่าการเดินทัพไปไกลถึงโจชู ไม่เห็นจะน่าทำตรงไหนเลย แต่ฝ่ายโจชูนั้นตรงกันข้ามเลยทีเดียว ปลุกระดมทุกภาคส่วนแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาให้ลุกขึ้นมาเตรียมพร้อมปกป้องบ้านเมืองและปรับปรุงระบบทหารให้เป็นแบบสมัยใหม่
สงครามเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน 1866 เรียกว่า ชิเคียวเซนโซ (四境戦争) เพราะว่ากองทัพโทกุงาวา ยกมาประชิด ทั้ง 4 ด้านของโจชู แม้ว่าด้วยกำลังทหารแล้วโทกุงาวาจะเหนือกว่า แต่ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว โจชูเหนือกว่าอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็มองเห็น ประกอบกับการเสียชีวิตของโชกุน โทกุงาวา อิเอโมจิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่โอซาก้า ทำให้ฝ่ายโชกุน ต้องเจรจาสงบศึกที่ยืดเยื้ออยู่หลายเดือน ความพ่ายแพ้ของโทกุงาวาในครั้งนี้ ทำให้เกียรติภูมิ เสื่อมทรามลงอย่างมาก
หลังจากนั้น โจชูและสัทสุมะ ก็มีอิทธิพลต่อราชการบ้านเมืองขึ้นมาในทันใด โทกุงาวา ไม่อาจต้านกระแสได้ จึงจำเป็นต้อง “ถวายคืนราชการบ้านเมือง” (大政奉還/ ไทอิเซอิโฮคัง) ต่อราชสำนักในปี 1867 ซึ่งหมายความว่าอำนาจที่โชกุน เคยมีถวายคืนทั้งหมด ตระกูลโทกุงาวา จึงมีสถานะเป็นเพียงเจ้าแคว้นคนหนึ่งในองค์กรใหม่ ที่บริหารราชการบ้านเมืองภายใต้พระจักรพรรดิ โครงสร้างใหม่นี้มาจากแนวคิดของซากาโมโต ริวมะ ซึ่งเป็นชาวโดสะ แคว้นโดสะนั้น สืบทอดมาจากเจ้าแคว้นคนแรก ยามาอุจิ คัทสึโตโย ที่ร่วมในการทำสงครามเซกิงะฮารากับฝ่ายอิเอยาสุและได้รับแต่งตั้งเป็นไดเมียว หลังจากนั้น จึงมีความจงรักภักดีกับโทกุงาวาเรื่อยมาและต้องการให้โทกุงาวา มีส่วนในการบริหารราชการบ้านเมืองด้วย
แต่ว่าแนวคิดของโจชู และสัทสุมะ ต้องการกำจัดโทกุงาวา ออกไปอย่างเด็ดขาด การลอบสังหาร ซากาโมโต ริวมะ จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พระจักรพรรดิทรงมีพระบรมราชโองการให้พระราชอำนาจกลับคืนสู่สถานะเดิมคือ 王政復古(โอเซอิฟุคโขะ) ที่บริหารราชการด้วยคณะขุนนางแห่งรัฐ หรือ 太政官 (ดะโยคัน) ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายโจชู/สัทสุมะกับฝ่ายโทกุงาวา จึงทวีความรุนแรงและบานปลายเป็นสงครามโทบะฟุชิมิ (鳥羽伏見) ที่เกียวโต หลังจากนั้นสงครามนี้ขยายวงกลายเป็นสงครามโบชิน(戊辰戦争) แผ่ขยายไปทั่วญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสงครามถอนรากถอนโคน โทกุงาวาและแคว้นที่จงรักภักดีต่อโทกุงาวา
หลังจากนั้น จึงกลายเป็นยุคที่เรียกว่า ยุคแห่งการปฏิรูปเมจิ หรือ 明治維新 (เมอิจิอิชิน) ฝ่ายที่ขึ้นสู่อำนาจแห่งการปกครองญี่ปุ่นก็คือโจชูและสัทสุมะ การปฏิรูปดูจะเป็นคำสวยหรูที่ใช้ เรียกยุคใหม่ของญี่ปุ่น แต่ว่าดูจากวิวัฒนาการของเหตุการณ์แล้วน่าจะเรียกว่าเป็น “การปฏิวัติ ยึดอำนาจ” ของโจชูมากกว่า โดยมีที่มาเริ่มต้นจากการลดศักดินาของโจชูของโทกุงาวาโดยแท้เลยทีเดียว
จะไม่ให้เรียกว่า โจชู กำหนดชะตาของญี่ปุ่นปัจจุบันได้อย่างไร
ที่มา: 幕末維新 長州傑士列伝 編集人:竹内清乃 東京平凡社