ไฟฟ้าจากถ่านหินดีที่สุดในโลก
ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุด ก่อมลพิษน้อยมาก พิสูจน์มานักต่อนัก แต่สำหรับประเทศไทยได้รับการต่อต้านจากพวกเอ็นจีโอหยิบมือเดียว
เราจึงควรมาวิเคราะห์ให้ชัดเจนถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในฐานะอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง
ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีพลังงาน ได้ไปร่วมงานสานเสวนาเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ทั้งที่ชุมพร กระบี่ และหาดใหญ่ ได้ฟังความเห็นของกลุ่มค้านและกลุ่มสนับสนุนถ่านหิน และได้ไปเยี่ยมชมพื้นที่โดยรอบด้วย
ไฟฟ้าเป็นเรื่องของความมั่นคง โดยหากย้อนกลับไปเมื่อ 21 พ.ค.2556 “ในช่วงเวลาใกล้ค่ำ 18.52 น. ...กระแสไฟฟ้าได้ดับเป็นวงกว้างครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้...การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะกู้สถานการณ์แต่ละพื้นที่ใช้เวลาราว 20 นาทีไปจนถึง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ซึ่งกว่าจะครบสมบูรณ์ก็ปาเข้าไป 23.00 น. ...สร้างผลกระทบและความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจ ทั้งจากแหล่งท่องเที่ยวและในด้านต่างๆ ของภาคใต้ ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท...”
ท่านเชื่อหรือไม่ ราคาค่าไฟฟ้าของมาเลเซียถูกกว่าไทยถึงราวครึ่งหนึ่ง ณ เดือน ธ.ค.2562 ค่าไฟฟ้าไทยสำหรับครัวเรือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.12 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ ในขณะที่ของมาเลเซียอยู่ที่ 0.06 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ แสดงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยสูงมาก ยิ่งซื้อไฟฟ้าจากแสงแดด ลม ยิ่งแพงไปใหญ่ ไม่เสถียร ไม่พอใช้ ต้นทุนสูง ค่าเสื่อมสูง ฯลฯ ไฟฟ้าทางเลือกจึงไม่มีความเป็นไปได้เลยแม้แต่น้อย หลายคนกลัวถ่านหินจน “ขึ้นสมอง” แต่มีผู้นำท้องถิ่นในกระบี่ ทดลองดื่มน้ำที่แช่ด้วยก้อนถ่านหินแล้ว ปรากฏว่าไม่เป็นไร
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถ่านหินเป็น “หินชนิดหนึ่งที่เกิดจากการตกตะกอนสะสมของซากพืชในยุคดึกดำบรรพ์เป็นเวลายาวนานหลายล้านปี จนตะกอนนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปและมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นธาตุคาร์บอน...ถ่านหินที่มีจำนวนคาร์บอนสูงและมีธาตุอื่นๆ ต่ำ เมื่อนำมาเผาจะให้ความร้อนมาก ถือว่าเป็นถ่านหินคุณภาพดี” ดังนั้นไปแช่น้ำแล้วดื่มจึงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เพราะไม่ถูกความร้อนนั่นเอง
ในมาเลเซียเริ่มมีการใช้ถ่านหินมากยิ่งๆ ขึ้น เพราะต้นทุนถูกกว่าแหล่งพลังงานชนิดอื่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แก๊สในอ่าวไทยก็จะหมดในเวลาสิบกว่าปีข้างหน้า ที่สำคัญเราเอาแก๊สไปใช้หุงต้มหรืออื่นใดจะเป็นประโยชน์มากกว่าเอามาผลิตไฟฟ้า ส่วนน้ำมันก็สิ้นเปลืองเป็นอย่างมากหากนำมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า ถ่านหินจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ยิ่งกว่านั้นสต็อกของแก๊ส คงสามารถเก็บไว้ใช้ได้ล่วงหน้า 7-14 วัน แต่ถ่านหิน 2-6 เดือนเลย
โรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซียมี ดังนี้
1.Jimah Power Station โรงงานนี้สร้างอยู่ริมทะเล ไม่ได้สร้างอยู่บนฝั่งเช่นโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่สำคัญอยู่ใกล้แหล่งรีสอร์ตขนาดใหญ่และสวยงาม และชุมชน เคยมีผู้ร้องว่าจะไม่ปลอดภัยต่อชุมชนเมื่อปี 2552 แต่จนบัดนี้ก็ไม่เคยมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เมื่อตรวจสอบจากความเห็นทั้งทางบวกและลบ ก็ไม่มีใครบ่นเรื่องนี้แต่อย่างใด
2.โรงไฟฟ้า Manjung ก็สร้างออกมานอกฝั่งเล็กน้อย อยู่ใกล้รีสอร์ตและชุมชน แต่ก็ไม่มีเสียงบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้
3.โรงไฟฟ้า KPAR ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์เพียง 56 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าใกล้มาก เช่นระยะทางจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (กม.0) ไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต (กม.42 จากดินแดง) ขนาดชาวกรุงกัวลาลัมเปอร์ยังไม่กลัว โรงงานก็สร้างก่อนไทยที่จะมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าเสียอีก
4.โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tangjung Bin ของมาเลเซียนี้อยู่ติดชายแดนสิงคโปร์ ถ้ามีปัญหา สิงคโปร์ก็คงไม่ยอมเช่นกัน นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตีโต้ความเชื่อผิดๆ ของ NGOs
โรงไฟฟ้าทุกโรงของมาเลเซียอยู่ติดทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำก็มี ไร้ปัญหา แม้แต่สิงคโปร์ก็เริ่มมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ในนครสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศอันดับหนึ่งของกัมพูชา ก็มีการลงทุนจากมาเลเซีย 1 โรงและของจีนอีกด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ของไทยที่ระยอง ก็อยู่กลางทะเล นี่ถือเป็นบทพิสูจน์ความปลอดภัยว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสมัยใหม่มีความปลอดภัย ยิ่งกว่านั้นเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยยังทันสมัยกว่าของมาเลเซียเป็นอันมาก
ทั้งนี้เป็นผลการศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย มหาวิทยาลัยเคบังซาน ร่วมกับนักวิจัยอิสระซึ่งผลการศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติเมื่อเดือน มิ.ย.2556 อาจมีคนทำวิจัยออกมาว่ามีผลเสียต่อสุขภาพบ้าง แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้มากกว่าผลวิจัยก็คือ หลังจากโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่มาหลายปี ก็ไม่มีเสียงบ่นดังๆ จากประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่ไปใช้บริการรีสอร์ต โรงแรมต่างๆ แต่อย่างใด
การลวงคนด้วยการขายความกลัวนั้น ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ พวก NGOs คงไม่มาร่วมรับผิดชอบหากขาดแคลนพลังงานแต่อย่างใด จะสังเกตได้ว่ากระบี่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์ตั้งแต่ปี 2509-2538 แต่รีสอร์ตต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่มีท่าทีเกรงกลัวโรงไฟฟ้า ดูท่าแล้วเราสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่น่าจะทำได้ครับ
ที่ประเทศจีนเมื่อปี 2562 มีข่าวว่าจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 103 โรงนั้น สาเหตุที่แท้จริงนั้น คือจีนวางแผนว่าเศรษฐกิจจะโต จึงวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก แต่เอาเข้าจริงเศรษฐกิจโลกไม่โตตามคาด ทำให้ปัจจุบันจีนมีกำลังสำรองสูงถึงกว่า 60% ซึ่งของประเทศไทยกำลังผลิตสำรองจะอยู่ที่ 15% จากเดิมที่พยายามปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีเก่าให้ดีขึ้น ถ้าปรับไม่ได้ก็ใช้วิธีเลิกผลิต จีนจึงถือเอาเอาวิกฤตินี้หยุดสร้าง 103 โรง ในเขตที่มีโรงไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามากเกินไปนั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น MIT ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลก ใช้นักวิจัยสหศาสตร์เป็นจำนวนมาก สำรวจมาแล้วว่าถ่านหินเป็นสิ่งจำเป็นและทำให้กระบวนการสะอาด ปลอดภัยได้ มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา พม่า อินเดีย จีน ฯลฯ พิสูจน์มาให้เห็นแล้วว่า ถ่านหินบิทูมินัส ผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่า ประหยัดกว่า สะอาดกว่า และอย่าลืมว่าแต่เดิมปี 2509-2538 เราใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่กระบี่ โรงแรมรีสอร์ตต่างๆ ก็ยังเกิดเพิ่มขึ้นมากมาย แสดงว่าไม่สกปรก
ถ้าไทยไม่อยากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ซื้อไฟจากมาเลเซีย ลาว เมียนมาเสียเลยจะดีไหม ถูกกว่าอีก!