ของเก่ากลับมาใหม่ได้เสมอ

ของเก่ากลับมาใหม่ได้เสมอ

โลกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมากลายเป็นยุคสมัยที่ใครต่อใครพากันขุดของเก่ามาย้อมให้ดูเป็นของใหม่ แล้วนำเสนอกันประดุจว่าเป็นของใหม่

ถ้าใครไม่ดูให้ดีก็พากันตื่นเต้นไปกับของเก่าที่ย้อมให้ดูใหม่เหล่านั้น ตามมาด้วยการเสียเงินเสียทองไปมากมายเพื่อเสาะหาของเก่าย้อมใหม่เหล่านั้นมาใช้ ทั้งๆ ที่มีของเหล่านั้นอยู่แล้ว

ยุคดิจิทัลยิ่งทำให้การทำของเก่าให้ดูเป็นของใหม่กระทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก แค่ทำอินโฟกราฟฟิกใหม่กับเรื่องเดิมเรื่องเก่าก็กลายเป็นเรื่องใหม่ เอาเนื้อเรื่องหนังเก่ามาใส่อนิเมชั่นเข้าไปสักหน่อย เนื้อเรื่องเก่าก็กลายเป็นของใหม่ได้ง่ายๆ คนเคยดูแล้วตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ ก็ตามมาดูใหม่ตอนโตเป็นผู้ใหญ่

ของเก่าที่กลับมาเสมอคือวิธีการคิดค้นคุณค่าใหม่ๆ ที่จะนำเสนอให้ลูกค้าที่เราเคยถูกสั่งสอนกันมาว่าจะทำอะไรแข่งกับใคร ก็ให้พยายามเสนอคุณค่าให้กับลูกค้าที่แตกต่างไปจากคนที่อยู่ในตลาดการแข่งขันเดียวกัน ให้ใส่ใจโฟกัสเฉพาะในเรื่องที่เราเก่งกว่าคนอื่น อย่าอยากทำไปหมดทุกเรื่องอาจพลาดพลั้งได้ง่ายๆ เอาความเก่งของเราไปสร้างคุณค่าเสนอกับลูกค้า ทำให้ติดอกติดใจเรา ซึ่งคนอื่นจะทำตามได้ยากหากเราเก่งกว่าคนอื่นในเรื่องนั้นจริงๆ พยายามอย่าไปทำอะไรที่เหมือนกับคนอื่น จนกระทั่งผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรากลายเป็นของที่หาที่ไหนก็ได้ กลายเป็นของโหลๆ จนสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเอาชนะกันด้วยราคา ซึ่งทำมากก็เหนื่อยมากแต่รายได้ไม่มาก สุดท้ายก็หมดใจจะสู้เพราะยิ่งทำกำไรยิ่งลด

กล่าวกันชัดๆ อีกครั้งว่าจะทำอะไรก็ให้คิดถึงคุณค่าที่จะเสนอให้กับลูกค้าไว้ก่อนมีดีอะไร ก็ให้เน้นตรงนั้น พลาดท่าไปอย่างไรก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้เสมอ เพราะลูกค้าติดอกติดใจคุณค่าที่ได้รับจากอะไรสักอย่างที่เป็นของดีของเรา

พอมาถึงยุคดิจิทัลก็เอาของเก่ามาย้อมใหม่กันอีกที คราวนี้บอกว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางดิจิทัล ดังนั้นเราต้องหันมาปรับเปลี่ยนแปลงโฉมทางดิจิทัล ต้องทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่งั้นอยู่ไม่ได้แล้ว ก็บอกว่าผู้บริหารต้องไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรมกันให้รู้เรื่องรู้ราวว่าจะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นกันอย่างไร หลายคนก็อินไปกับของเก่าย้อมใหม่นี้แล้วไปเอาคำศัพท์เก่าที่ย้อมให้ดูใหม่มาพูดจากับลูกน้องให้ตนเองดูทันสมัย ในขณะที่ลูกน้องก็งงกันว่าอะไรเป็นอย่างไรกันแน่

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเริ่มต้นด้วยการกำหนดว่าองค์กรจะส่งมอบคุณค่าอะไรบ้างให้กับลูกค้า เพียงแต่กำชับเพิ่มเติมว่าต้องเป็นคุณค่าที่ขอบเขตใหม่ คือเป็นคุณค่าที่เกินกว่าที่เคยทำมาได้ก่อนจะมีสารพัดเครื่องมือทางดิจิทัลมาช่วย ซึ่งตรงตามของเก่าที่เคยถูกสั่งสอนมาตามตำราเดิมว่าจะเอาตัวรอดในการแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องค้นหาคุณค่าที่ต่างไปจากคนอื่นๆ ต้องใช้ความเก่งที่มีอยู่ไปสร้างความแตกต่างของคุณค่าของเรากับของคนอื่น

ซึ่งก็คือจุดตั้งต้นเดียวกับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพียงแต่คราวนี้ความเก่งที่ต้องมีนั้นกลายเป็นความเก่งด้านดิจิทัล คุณค่าที่เสนอก็เลยเกิดความแตกต่างจากความเก่งทางดิจิทัลนั่นเอง ถ้าเก่งเรื่องการค้นคิดคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าอยู่แต่ดั้งเดิมแล้วใส่ดิจิทัลเข้าไปสักหน่อย จุดตั้งต้นของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นก็เกิดขึ้นได้ทันที ถ้าไม่คุ้นเคยกับการค้นคิดคุณค่าใหม่ๆ ต่อให้ฝึกอบรมร้อยไอทีหมื่นดิจิทัลก็แปลงโฉมอะไรไม่ได้ทั้งนั้น

ของเก่าที่เราเก่งจริงๆ มีโอกาสกลับมาใช้ใหม่ได้เสมอ เพียงแต่ขอให้เก่งเรื่องเก่านั้นจริงๆ เท่านั้น เก่งจริงกับแค่พูดเรื่องนั้นได้ต่างกัน เก่งจริงเริ่มต้นจากมีความเข้าใจจริง นำไปประยุกต์ได้จริง วิเคราะห์เป็นจริงๆ ไป จนกระทั่งใช้ความเก่งนั้นสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ๆ ได้จริงๆ

เก่งจริงเสียอย่างอย่างไรก็นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในทุกยุคทุกสมัย