รัฐประหาร รัฐบาลแห่งชาติ และเบื้องหลังม็อบ ในมุมของประชาชน?
สถานการณ์การเมืองไทย ถูกจับตาน่าสนใจยิ่งว่า ก่อนถึง "19 ก.ย." ชุมนุมใหญ่ค้างคืน จะเกิดเหตุรัฐประหาร รัฐบาลแห่งชาติ ลุยเบื้องหลังม็อบหรือไม่
ประการแรก ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการชุมนุม ซึ่ง สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 85.1% เชื่อว่า ม็อบต่าง ๆ มีขบวนการนักการเมืองและต่างชาติหนุนอยู่เบื้องหลัง ขณะที่ 14.9% เชื่อว่าไม่มี
ประชาชนส่วนใหญ่ 63.1% ระบุภาพลักษณ์ของเพนกวิน, ไมค์ระยอง แกนนำม็อบ ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ทำงานให้ใครบางคนฝ่ายการเมืองเบื้องหลัง หรือทำงานให้ต่างชาติผู้หนุนเบื้องหลัง ขณะที่ 36.9% ระบุทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ
ภาพลักษณ์ของ "เพนกวิน" แกนนำม็อบ ที่เคยนั่งรับประทานชีสเค้กกับเจ้าหน้าที่รัฐของต่างชาตินั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 85.2% ระบุว่าสร้างความเสื่อมเสียต่อตัวเองและประเทศชาติ ขณะที่ 14.8% ระบุไม่เสื่อมเสีย
ประชาชนส่วนใหญ่ 75.1% เชื่อว่ามีขบวนการต่างชาติจริงที่จ้องทำลายเสาหลักของประเทศไทยให้อ่อนแอ สั่นคลอน ไร้ระเบียบ จลาจล ควบคุมไม่ได้ เพื่ออ้างเข้ามาจัดระเบียบใหม่ หวังกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศไทย โดยมีนักการเมืองไทยและแกนนำม็อบร่วมมือกับต่างชาติ ในขณะที่ 24.9% ไม่เชื่อว่ามี
ขณะเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ 92.2% ระบุถึงความเครียดว่าม็อบต่าง ๆ จะซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจ ในขณะที่ประชาชนเพียง 7.8% ระบุว่าไม่เครียด
ประการที่สอง ความคิดเห็นของประชาชนต่อความเคลื่อนไหวทางการเมือง "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อ "ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้"
โดยเมื่อถามว่าประชาชนเชื่อหรือไม่กับกระแสข่าว "การทำรัฐประหาร" ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 58.08% ตอบว่าไม่เชื่อ เพราะมองว่าต้องการปล่อยข่าว สร้างกระแส ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำถึงขนาดนั้น ปัจจุบันก็อยู่ภายใต้กำลังทหารอยู่แล้ว ส่วน 41.92% ตอบว่าเชื่อ เพราะทางทหารมีการเคลื่อนไหว ปัญหาบ้านเมืองสะสมจนมากเกินไป ต้องการปฏิรูปการเมือง เป็นทางออกที่ไม่ควรมองข้าม ฯลฯ
เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานี้ "การทำรัฐประหาร" มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 46.67% ระบุว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ รองลงมา 40.61% ระบุว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
และเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่า "การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ" มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 41.79% ระบุว่าไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ส่วนอีก 33.29% ระบุว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้
ประการที่สาม ความคิดเห็นของประชาชนกรณีการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสํารวจของประชาชน เรื่อง “จะมี ส.ว. ต่อไปดีไหม?”
จากการสํารวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่าร้อยละ 61.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ส่วนร้อยละ 8.96 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 13.21 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 0.08 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของผู้ที่ตอบเห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแค่มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พบว่า ร้อยละ 69.27 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 15.90 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วยร้อยละ 6.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยร้อยละ 7.22 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลยและร้อยละ 1.37 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
กล่าวคือ ทั้งสามประเด็นจากทั้งสามโพลล์ สะท้อนความรู้สึกความคิดเห็นของประชาชนว่า กระแสเกิดรัฐประหารมีคนเชื่อจำนวนไม่น้อยเลย และไม่ค่อยสนันสนุนรัฐบาลแห่งชาติ สอดรับความเชื่อว่า "ม็อบมีเบื้องหลัง" ทั้งนักการเมืองและต่างชาติสนับสนุน จึงยิ่งตอกย้ำกระแสการยึดอำนาจ หากเกิดเงื่อนไขความวุ่นวายและรุนแรง แต่ "อารมณ์ร่วม" ของประชาชนที่ติดใจคืออำนาจ ส.ว. ในการโหวดนายกรัฐมนตรีที่ไม่ควรมีนั้น จะเป็นเงื่อนปมที่ต้องแก้ไขเช่นกัน
น่าจับตาอย่างยิ่ง ก่อนและหลัง "ม็อบ 19 ก.ย." จะเกิดอะไรที่เป็น "จุดเปลี่ยนการเมือง" หรือไม่!!