บนดาวศุกร์ สิ่งมีชีวิตนอกโลก มฤตยูหรือสิ่งพิศวงใด?
บนดาวศุกร์มีอะไร? ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กรณีนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ค้นพบโมเลกุลฟอสฟีน
อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิต กลายเป็นข่าวใหญ่ช่วงนี้ กลายเป็นกระแสต่างๆนานา ถึงเรื่องมนุษย์ต่างดาว และสิ่งมีชีวิตนอกโลก ตอกย้ำความเห็นที่ว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่เดียวดายในจักรวาลนี้
ทว่า เรื่องดังกล่าวน่าพินิจพิเคาระห์เหมือนกันว่า ความจริงกับข้อเท็จจริงสัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร เมื่อพิจารณาข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ พบว่า ความเชื่อว่าบนดาวศุกร์มีสิ่งมีชีวิตหรือเคยมีสิ่งมีชีวิตนั้น มีมากว่า 60 ปีแล้ว รัสเซียเดิมคือสหภาพโซเวียต เริ่มส่งยานอวกาศไปสำรวจก่อนดาวศุกร์และต่อเนื่อง ตามด้วยสหรัฐอเมริกาที่แข่งขันกัน ทั้งสองประเทศประสบความสำเร็จหลังยานอวกาศหลายลำไปสำรวจอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสำรวจชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ได้ส่งข้อมูลกลับมายังโลกได้เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว
ความคืบหน้าของการสำรวจดาวศุกร์มีมาต่อเนื่อง แต่ก่อนจะเกิดข่าวใหญ่วันนี้นั้น เมื่อปีที่แล้ว นักวิจัยต่างชาติเผยแพร่งานวิจัยว่าดาวศุกร์อาจเคยมีแหล่งน้ำเมื่อราว 3 พันล้านปีก่อน ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตราว 730 ปีล้านก่อน แต่สภาพปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น
แม้ว่า ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แฝดกับโลก ทั้งขนาดและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ที่ใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด แม้ว่าดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลกเพียง 30% แต่สภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ ทำให้ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น และเก็บกักความร้อนไว้มหาศาล จนมีสภาวะอุณหภูมิพื้นผิวร้อนพอที่จะหลอมตะกั่วได้ นอกจากนี้ในชั้นบรรยากาศยังเต็มไปด้วยแก๊สของกรดกำมะถัน
ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สดร. อธิบายผ่านเพจเฟซบุ๊ค สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุวบางช่วงว่า ฟอสฟีน (Phosphine) เป็นโมเลกุลที่เป็นสารประกอบระหว่างธาตุฟอสฟอรัสและไฮโดรเจน มีสูตรทางเคมี PH3 คล้ายกับโมเลกุลของแอมโมเนียที่ถูกแทนที่ด้วยฟอสฟอรัส บนโลกนั้นฟอสฟีนมีสถานะเป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไวไฟ และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การค้นพบฟอสฟีนบนดาวดวงอื่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากนั้น เนื่องจากบนโลกนั้นฟอสฟีนมีแหล่งกำเนิดเพียงแค่สองแหล่ง คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม หรือเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าบนโลกนั้นแหล่งกำเนิดหลักของฟอสฟีนเกิดขึ้นจากปฏิกิริยารีดักชันของสารประกอบพวกฟอสเฟต แต่ไม่มีสภาพแวดล้อมใดบนโลกที่สามารถผลิตตัวรีดิวซ์ที่มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยารีดักชันที่ผลิตฟอสฟีนได้อีกเลยนอกไปจากตัวรีดิวซ์ที่พบในสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ฟอสฟีนยังสามารถทำปฏิกิริยากับสารประกอบอื่นได้ง่าย การที่จะพบฟอสฟีนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้จึงจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งที่ผลิตฟอสฟีนมาชดเชยอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งคำถามแรกที่นักดาราศาสตร์จะต้องตอบให้ได้เสียก่อน ก็คือ มีกลวิธีใดอีกไหมบนดาวศุกร์ ที่อาจจะทำให้เกิดโมเลกุลของฟอสฟีนได้ ทีมนักวิจัยที่นำโดย William Bains จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) จึงลองทำการประเมินกลไกตามธรรมชาติที่อาจจะผลิตฟอสฟีนได้บนดาวศุกร์ ตั้งแต่ แสงแดด แร่ธาตุทื่ถูกพัดขึ้นมาจากพื้นผิวเบื้องล่าง ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะลองพิจารณาเช่นไร การคำนวณก็พบว่าแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่สามารถที่จะผลิตแม้กระทั่งปริมาณฟอสฟีนหนึ่งในหมื่นของที่ตรวจพบโดยกล้องโทรทรรศน์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากทีมลองพิจารณาถึงแหล่งกำเนิดที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตแล้ว กลับพบว่าหากสิ่งมีชีวิตทำงานแค่เพียง 10% ของขีดจำกัดสูงสุด ก็จะสามารถผลิตฟอสฟีนเพียงพอที่จะอธิบายปริมาณที่ตรวจพบบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้แล้ว
การค้นพบฟอสฟีนในปริมาณที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกตามธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง และทำให้เราต้องกลับมาพิจารณาทฤษฎีการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังห่างไกลจากการยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตพอสมควร แม้ว่าในปัจจุบัน ทฤษฎีที่บ่งชี้ว่าฟอสฟีนในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตจะเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงปริมาณฟอสฟีนที่พบได้ดีที่สุด แต่การจะยืนยันว่าดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิตยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลอีกมาก แม้ว่าชั้นบรรยากาศตอนบนของดาวศุกร์อาจจะมีอุณหภูมิเพียง 30 องศา แต่ชั้นบรรยากาศในบริเวณนี้นั้นก็ยังเต็มไปด้วยกรดกำมะถันกว่า 90% ซึ่งเรายังไม่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตใดบนโลกที่สามารถอยู่รอดในสภาวะเช่นนั้นได้
หากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีสิ่งมีชีวิตจริง ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์นั้นอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลกที่เรารู้จักและแน่นอนว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าฟอสฟีนที่พบนั้นอาจจะเป็นเพียงผลผลิตจากปฏิกิริยาเคมีแบบใหม่ที่เรายังไม่รู้จัก แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการบ่งชี้ว่าความเข้าใจทางด้านเคมีที่มนุษย์เรามีนั้นยังไม่สมบูรณ์ และยังมีปฏิกิริยาแปลกประหลาดบางอย่างซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เพียงเฉพาะในสภาพแวดล้อมอันแปลกประหลาดบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์
ซึ่งหากเราพิจารณาว่าสิ่งที่เรารู้จักกันว่าเป็น “สิ่งมีชีวิต” บนโลกของเรา แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรกับปฏิกิริยาทางเคมีอันซับซ้อนและแปลกประหลาดเหนือสิ่งอื่นใดในธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งการค้นพบแหล่งที่มาของฟอสฟีนบนดาวศุกร์ในอนาคตอาจจะทำให้เราต้องมาพิจารณานิยามของสิ่งที่เราเรียกว่า “สิ่งมีชีวิต” ขึ้นเสียใหม่ก็เป็นได้ และไม่ว่าเราจะพบสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์หรือไม่ การค้นพบนี้ย่อมเท่ากับเป็นการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ในการหาสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวไปโดยปริยาย
กล่าวสำหรับความคิดเห็นของ "ผู้เขียน" เองนั้น สิ่งที่เราค้นพบบนดาวศุกร์จะนำไปสู่สิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือเงื่อนงำมฤตยูและสิ่งพิศวงใด คำถามง่ายๆ คือว่า สิ่งมีชีวิตที่เคยมีบนดาวศุกร์สูญสิ้นไปแล้วหรือยังมีอยู่ เพราะสภาพชั้นบรรยากาศอันแปลกประหลาด และพื้นผิวที่ร้อนหลอมตะกั่วได้ของดาวศุกร์
สิ่งที่น่าชวนคิดคือว่า ถ้าสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์หากยังอยู่ จะวิวัฒนาการไปขนาดไหนจนสามารถอยู่กับสภาพอากาศที่เลวร้ายขนาดนั้น หรือว่าจะวิวัฒนาการจนมีเทคโนโลยีสุดล้ำกลายเป็นมีชีวิตที่เหนือกว่ามนุษย์ไปแล้ว? จนสามารถสร้างยานอวกาศอพยพไปอยู่ที่อื่นปล่อยไปดาวศุกร์กลายเป็นสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อย่าลืม "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" วลีอมตะของ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ดังนั้น รองร่อยบนดาวศุกร์ ที่เราค้นพบวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นว่า สิ่งมีชีวิตที่เคยมีหรือมีอยู่บนดาวศุกร์ มีวิวัฒนาการอย่างไร ท่ามกลางที่โลกถูกทำร้ายกลายเป็นสภาวะโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือว่า ดาวศุกร์ จะเป็นตัวอย่างจุดจบ..ที่ความรู้ของมนุษย์ยังไปไม่ถึง!?