ใกล้เข้ามาทุกทีกับฤดูปิดเทอมเล็กใน ต.ค. การเรียนประกอบหุ่นยนต์เป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งการฝึกทักษะ ทำงานเป็นทีม
ที่สำคัญคือ นำความชอบของผู้เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงวิชาการ
ในอดีตกิจกรรมที่ผู้ปกครองสรรหามาให้ลูกหลานได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดเทอมนั้นมีอยู่อย่างจำกัดและมักจะเน้นไปใช้เชิงเพิ่มทักษะทางวิชาการ แต่ในปัจจุบันที่มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนมากมายว่าการเล่นนั้นแท้จริงแล้วคือการเรียนรู้ ดังนั้นการสนับสนุนกิจกรรมตามความชอบของบุตรหลานจึงมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น
การเรียน/เล่น ประกอบหุ่นยนต์นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แบบ STEM คือการผสมผสานการเรียนของศาสตร์แขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน S (Science - วิทยาศาสตร์) T (Technology - เทคโนโลยี) E (Engineering - วิศวกรรม) M (Mathematics - คณิตศาสตร์) เพราะก่อนจะประกอบชิ้นงานจนออกมาเป็นรูปร่างหุ่นยนต์ รถ โดรน หรือเครื่องมือต่างๆ นั้น จะต้องรู้จักศาสตร์ทั้ง 4 ตัวนี้ และก็เพิ่มศิลปะ (Art) เข้าไปอีกหนึ่งด้วย
การออกแบบและประกอบหุ่นยนต์นั้น ถือเป็นผลสำเร็จหรือปลายน้ำจากจุดเริ่มต้นของ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ที่ในอดีตเราเรียนรู้ผ่านวิชาตรรกศาสตร์ หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า โค้ดดิ้ง (Coding) อาทิ การจะประกอบหุ่นยนต์ให้วิ่งได้เร็ว จะต้องประกอบไปด้วยล้อ น้ำหนักที่เบา หรือการจะประกอบหุ่นยนต์ประลองกำลังนั้นจำเป็นจะต้องเพิ่มความแข็งแรงของหุ่นยนต์ โดยตรรกะเหล่านี้จะถูกเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของผู้เรียน ไม่ใช่เรียนรู้จากตำราหรือท่องตามกันมา
การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัตินั้นจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจและจดจำมากกว่าการท่องจำ ซึ่งในการประกอบหุ่นยนต์ให้ขยับเคลื่อนที่ได้ก็มีบทเรียนทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์พื้นฐานมากมายที่จำเป็นต้องทราบ อาทิ วงจรไฟฟ้าเป็น ต้องเรียนรู้กระแสไฟฟ้าตรงหรือสลับ การออกแบบคำสั่งหรือโค้ดดิ้งก็จำเป็นต้องเข้าใจภาษาอังกฤษและทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน
เด็กที่มีโอกาสได้เรียนรู้ในการประกอบหุ่นยนต์มักจะมีความคิดที่เป็นระบบและมีเหตุผล สามารถคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้ดี เพราะ การประกอบและบังคับให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่นั้นหากมีจุดผิดพลาดก็จำเป็นต้องวิเคราะห์เรียนรู้และจดจำเพื่อไม่ให้ผิดซ้ำ และพัฒนาต่อยอดเพิ่มพูนความรู้ต่อไปในบทเรียนที่มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ในเชิงจิตวิทยา การเรียนรู้ที่มาจากความชอบนั้น ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว มีความสนุกและเอาชนะความยากของการโค้ดดิ้งลงได้ และเมื่อหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ เด็กก็จะมีความภูมิใจถือเป็นก้าวแรกที่ดีที่เสริมส่งความมั่นใจในความชอบนั้น และจะเป็นตัวส่งเสริมกระตุ้นให้มีความรักและความทะเยอทะยานที่ต่อยอดความรู้ทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโลโลยี
ในเชิงสังคม ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รู้จักการสื่อสาร รู้จักช่วยเหลือกันและกันในระหว่างเรียน เช่นเดียวกันกับการแข่งขันที่จะต้องเรียนรู้การแพ้ การชนะ และการให้อภัย
การต่อยอดในเส้นทางอาชีพนั้นก็มีความหลากหลาย เพราะขณะนี้โลกมีความต้องการแรงงานที่มีฝีมือทักษะในเรื่องการ Coding และโดยเฉพาะไทยที่เป็นประเทศที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งผลิตชิ้นงานคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการต่อยอดสู่ภาคการเรียนวิศวกรรม หรือหุ่นยนต์นั้นก็เป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างมากและก็ได้รับการตอบรับที่ดีในตลาดแรงงาน
การประกอบหุ่นยนต์นั้นเป็นแค่ปลายน้ำหรือทางเลือกหนึ่งของ Coding ซึ่งเป็นปลายทางที่จับต้องได้และดูน่าสนใจที่สุดสำหรับเด็ก เรียกได้ว่าเป็นตัวดึงดูดให้เด็กเข้ามารู้จัก Coding ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นหากสามารถเอาชนะอุปสรรคความยากของ Coding ได้แล้ว การต่อยอดทางอาชีพ เช่น การเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เข้าใจเครื่องมือในโลกออนไลน์นั้นสามารถทำรายได้ได้มากกว่าการเป็นวิศวกรทั่วไปได้หลายเท่าตัวนัก
ดังนั้น การเรียนประกอบหุ่นยนต์จึงเป็นการลงทุนในการศึกษาที่คุ้มค่ามาก