ระบบสุขภาพในอนาคต: ครบวงจร องค์รวม เชิงพาณิชย์
การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสุขภาพทั่วโลก เพราะนับเป็นครั้งแรก ๆ ที่นโยบายสุขภาพ กลายเป็นนโยบายนำหน้านโยบายด้านอื่น
และวิกฤตโรคระบาดยังเป็นการทดสอบระบบสุขภาพของประเทศครั้งใหญ่ ทำให้เห็นข้อดีและจุดบกพร่องของระบบที่จะต้องปรับปรุง เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
สถานการณ์โควิดยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติต่อระบบสุขภาพ โดยเฉพาะด้านมาตรฐานสุขอนามัย และความร่วมมือของประชาชนในด้านสุขภาพ รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ได้แสดงสมรรถนะของระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศ เมื่อวิกฤตโควิดจบลง
นอกจากนี้ ระบบสุขภาพยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ในอนาคต ทั้งแนวโน้มที่จะเกิดโรคระบาดถี่ขึ้น ผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนต่อประชากรมากขึ้นเรื่อย ๆ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผมได้วิเคราะห์ลักษณะระบบสุขภาพที่จะเปลี่ยนแปลงไปและจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 Integration: บริการสุขภาพครบวงจร
บริการสุขภาพในปัจจุบัน แม้ถูกเรียกว่า “health care” แต่ความเป็นจริงแล้วเป็น “sick care” เพราะเน้นการให้บริการเมื่อเกิดความเสียหายต่อสุขภาพขึ้นแล้ว ไม่ได้เน้นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพมากนัก ที่ผ่านมา ระบบสุขภาพของไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างสูง โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคมีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น แต่งบประมาณส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 91 เป็นการใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาล
การไม่ให้น้ำหนักกับการป้องกันสุขภาพมากพอ จะสร้างแรงกดดันต่อระบบสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า ทำให้เกิดความแออัดในสถานพยาบาล คนเจ็บป่วยไม่ได้รับบริการที่มีคุณภาพ บุคลากรมีภาระงานมาก และเกิดความเครียดทั้งสองฝ่าย และยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพยิ่งเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ แม้ระบบสาธารณสุขของไทยมีหน่วยงานที่ค่อนข้างครอบคลุมงานด้านต่าง ๆ ของระบบสุขภาพ แต่กระนั้นรายงานการสาธารณสุขไทยระบุว่า หน่วยงานต่าง ๆ ยังขาดการบูรณาการ ทำงานไม่เป็นเอกภาพ องค์ประกอบต่าง ๆ ยังไม่ถูกจัดวางร้อยเรียงให้เกื้อหนุนกันและกัน และขาดกลไกบูรณาการระหว่างหน่วยงานในระดับชาติและในทุกระดับ
ดังนั้น ระบบสุขภาพในอนาคต จึงมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจาก การเน้นรักษาสุขภาพ เป็น การดูแลสุขภาพครบวงจร กล่าวคือ ตั้งแต่การสร้างเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ จะปรับตัวสู่บริการที่ครบวงจรมากขึ้น และบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานและภาคีอื่น ๆ ในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น
ผู้เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน จะต้องให้บริการแบบบูรณาการมากขึ้น ระบบประกันสุขภาพอาจต้องเพิ่มสิทธิด้านการป้องกัน รวมถึงมีการพัฒนาความรู้สุขภาพ (health literacy) ของประชาชน และร่วมกันสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพเชิงป้องกัน และร่วมตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอม (fake news) ด้านสุขภาพ
ประการที่ 2 Comprehension: การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
ระบบสุขภาพของไทยและทั่วโลกยังขาดความสมดุล เพราะเน้นดูแลสุขภาพกาย แต่ปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ของมนุษย์ ไม่ได้ถูกให้น้ำหนักมากนัก โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่กระบวนทัศน์ทางสุขภาพกำลังเปลี่ยนไป (health paradigm shift) จากเดิมที่ให้ความสำคัญเพียงการป้องกันและรักษาความเจ็บป่วย ขยายไปครอบคลุมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ข้อมูลจาก Global Wellness Institute ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึง 2563 ธุรกิจด้าน wellness ทั่วโลกขยายตัวร้อยละ 7 ต่อปี โดยธุรกิจ wellness ที่ขยายตัวมากขึ้น อาทิ ธุรกิจออกกำลังกาย การให้คำปรึกษาสุขภาพกายและใจ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพ (wellness tourism)
ผมจึงคาดการณ์ว่า ระบบสุขภาพทั่วโลกมีแนวโน้มให้ความสำคัญการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น คือ เปลี่ยนจาก “สุขภาพกาย” เป็น “สุขสภาพ” (Wellness) โดยคำว่าสุขสภาพในความหมายของผมนั้น หมายถึง การดูแลสุขภาพของมนุษย์ครบทุกมิติ โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย ทั้งนี้ผมจำแนกสุขสภาพเป็น 2 ส่วน ได้แก่
(1) สุขสภาพภายใน (Internal Wellness) ประกอบด้วย สุขสภาพทางกายภาพ (physical wellness) สุขสภาพทางจิตใจ (mental wellness) และสุขสภาพทางจิตวิญญาณ (spiritual wellness)
(2) สุขสภาพภายนอก (External Wellness) ประกอบด้วย สุขสภาพทางเศรษฐกิจ (economic wellness) สุขสภาพทางสังคม (social wellness) และสุขสภาพทางการเมือง (political wellness)
ผมเห็นว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมสุขสภาพได้ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่สวยงาม อาหารไทย บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และมีบริการสุขภาพทางเลือกที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะการนวดแผนไทย การแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทย
ประการที่ 3 Profitization: บริการสุขภาพเชิงพาณิชย์
ในอนาคต ระบบสุขภาพจะเป็นบริการเชิงพาณิชย์มากขึ้น อุตสาหกรรมการบริการสุขภาพของไทยจะขยายตัวมากขึ้น โดยผมมองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็น 3 ดุมล้อโลกทางสุขภาพ อันได้แก่ (1) Medical Hub (2) Wellness Hub และ (3) Elderly Healthcare and Retirement Hub ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารับบริการด้านสุขภาพมากขึ้น
โรงพยาบาลรัฐจะถูกกดดันให้ต้องปรับตัวสู่บริการที่สร้างรายได้มากขึ้น เพราะภาคเอกชนให้ค่าตอบแทนบุคลากรการแพทย์สูงขึ้น ทำให้ภาครัฐขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ทำให้ต้นทุนของโรงพยาบาลสูงขึ้น จึงทำให้ค่ารักษาพยาบาลในประเทศสูงขึ้น โรงพยาบาลรัฐอาจต้องเปิดส่วนบริการที่แสวงหากำไรเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาอุดหนุนบริการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ระบบสาธารณสุขของไทย ได้รับความเชื่อมั่นว่ามีคุณภาพ จากความสำเร็จในการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับภาพลักษณ์ความมีน้ำจิตน้ำใจในการช่วยเหลือกันและกัน และดูแลชาวต่างประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศที่ต่อต้านคนจีนในช่วงวิกฤต จึงทำให้คนต่างชาติจะมีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวและรับบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยในยุคหลังโควิดได้
การเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพข้างต้นทั้ง 3 ประการ เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ผมได้วิเคราะห์ไว้ และยังมีลักษณะระบบสุขภาพในอนาคตที่น่าสนใจอีกหลายประการ ซึ่งผมจะขอนำเสนอในบทความครั้งต่อไปครับ