อารยธรรมไทย..ในวิถีพุทธ เนื่องในวันมหาปวารณา !!

อารยธรรมไทย..ในวิถีพุทธ เนื่องในวันมหาปวารณา !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา .. กาลออกพรรษาประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓

เวียนมาบรรจบครบรอบไตรมาสในปุริมพรรษาแล้ว เมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ ซึ่งตรงกับ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ที่เพิ่งผ่านไป จึงได้เห็นพระสงฆ์กระทำพิธีมหาปวารณาตามพุทธานุญาต แทนสังฆอุโบสถฟังสวดอาณาปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท ดังที่เคยปฏิบัติทุก ๑๕ วันหรือปักษ์หนึ่ง อันเป็นไปตามพระวินัยของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทนิกายที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา

พุทธานุญาตให้ภิกษุสงฆ์กระทำมหาปวารณาแทนการลงอุโบสถฟังสวดปาฏิโมกข์ศีล ๒๒๗ ข้อ เนื่องในโอกาสวันออกพรรษานั้น เกิดขึ้นด้วยมีเหตุการณ์ที่พระภิกษุในแคว้นโกศลได้มีการตั้งกติกาว่า จะไม่พูดคุยกันในระหว่างอยู่จำพรรษาร่วมกัน โดยให้ใช้วิธีบอกใบ้หรือใช้มือสื่อสารแทนการพูด จึงได้ทรงติเตียนในกติกาดังกล่าว ก่อนที่จะทรงอนุญาตให้ทำปวารณา เพื่อให้ภิกษุได้ทำปฏิกรรมครั้งใหญ่ (ปฏิกรรมคือการแก้ไขการกระทำที่ไม่ดี ผิดพลาด .. บกพร่องให้สิ้นไป) จะได้เจริญงอกงามในอริยวินัยในรูปการทำสังฆกรรม จึงเรียกว่า มหาปวารณา.. โดยมีหัวใจสำคัญคือการเปิดเผยตัวหรือปวารณาให้สามารถบอกกล่าว ว่ากล่าว ตักเตือนกันได้ ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ การได้เห็น การได้ยิน-ได้ฟัง หรือด้วยต้องสงสัย... เพื่อหวังการอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีต่อกันสืบตลอดไป ซึ่งพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องดังกล่าวดังพระภาษิตที่ว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี (ความพร้อมเพรียงในหมู่คณะย่อมนำความสุขมาให้)

ดังนั้น เนื่องในวันมหาปวารณาออกพรรษา .. ความสามัคคีจึงเป็นหลักธรรมที่สาธุชนควรจักได้นำมาพิจารณาเป็นพิเศษว่า ทำไมจึงทรงเน้นย้ำความพร้อมเพรียงในหมู่คณะ... การอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคี มีจิตเมตตาต่อกันในการคิด พูด ทำ... มีการเกื้อกูลกันในวัตถุสิ่งของที่ได้มาโดยสุจริต เหมาะควร มีประโยชน์... มีการบอกกล่าวแนะนำให้ความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยจิตที่มีเมตตากรุณาต่อกัน ทั้งนี้ก็เพื่อการสามารถปรับทัศนคติให้เท่าเทียมกัน อันนำไปสู่การปฏิบัติที่เสมอกันได้... ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนในสังคมมีจิตใจเปิดกว้าง รู้จักเปิดเผยเพื่อน้อมรับให้มีการตักเตือน ว่ากล่าว สั่งสอน ซึ่งกันและกันได้ เพื่อจะนำไปสู่การมีทิฏฐิและศีลเสมอกัน ซึ่งเป็นสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นไปเพื่อการรักกัน .. เคารพกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน...

สังคมพุทธศาสนา .. จึงเป็นสังคมอารยธรรมที่เกิดขึ้นด้วยสมาชิกในสังคมมีความเป็นสุภาพชน มีสัมมาคารวะ เปิดเผย น้อมรับ และกล้าหาญในการแสดงออก เมื่อจะรับฟังหรือต้องบอกกล่าว ย่อมยินดีด้วยจิตใจที่ดี... เราจึงเห็นอารยธรรมอันสะอาด สวยงาม สง่า น่าจะยินดีของสังคมชาวพุทธที่สืบเนื่องกันมายาวนานมากกว่า ๒๖๐๐ ปี ที่มุ่งเน้นความรักสามัคคีด้วยหลักพรหมวิหารธรรมและสังคหวัตถุธรรมเป็นธรรมประจักษ์ในเรื่องดังกล่าว

การยอมรับ การว่ากล่าวตักเตือน .. ด้วยจิตใจที่เคารพในธรรม... นับเป็นเอกลักษณ์ของชาวพุทธที่น่าสรรเสริญยิ่ง ที่ปัจจุบันได้จางคลายหายไปเกือบหมดสิ้นในหมู่ชนผู้อ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธที่ด้วยความห่างไกลในความเคารพไตรสิกขา มีความประมาทในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ เราจึงเห็นการใช้วาจาว่ากล่าว ดูหมิ่น เสียดสี ใช้คำหยาบต่อกันและกัน ไม่ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน จึงมีปรากฏเป็นคดีความมากมายในสังคมไร้พรมแดนปัจจุบันที่เจริญด้วยวัตถุเทคโนโลยีชั้นสูง แต่ต่ำชั้นในคุณภาพจิต จนยากจะรู้เข้าใจเท่าทันในสภาวธรรมทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร

หมู่ชนในสังคมจึงดำเนินชีวิตไปอย่างห่างไกลความรักสามัคคี .. ขาดความยินดีในการบอกกล่าวตักเตือน และเพิ่มพูนยิ่งใน อหังการ มมังการ และมานานุสัย ... ด้วยความไม่รู้เข้าใจในโทษของธรรม ๓ ประการดังกล่าว จึงทำให้จิตใจของแต่ละบุคคลมากไปด้วยความยึดถือว่า เป็นเรา (อหังการ) .. ว่าเป็นของของเรา (มมังการ) .. จึงเพิ่มกำลังให้เกิดกิเลสคือ มานานุสัย ได้แก่ ความถือตัว หลงตน ยิ่งขึ้น ๆ .. จนยากจะทำให้สิ้นไปซึ่งความคิดเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมได้.. จึงไม่แปลกที่ชนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันพากันปฏิเสธธรรม... โดยหาได้ใส่ใจไหมว่า แท้จริงชีวิตก็คือธรรม ..  และธรรมะก็คือชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งขอธรรมชาติ... จึงต้องรับผลความผิดเพี้ยนดังกล่าวอย่างสาสม ด้วยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ยุติธรรมเป็นปกติในทุกกาลสมัย... หากว่าเราผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ นั่นหมายถึง การผิดเพี้ยนไปจากธรรมะนั่นเอง...!!

 

เจริญพร

[email protected]