ส่องภารกิจ 2 เดือน 'สุพัฒนพงษ์'ในตำแหน่ง 'รมว.พลังงาน'
วันที่ 5 ต.ค.63 ที่ผ่านมา ถือว่าครบ 2 เดือน กับการปฏิบัติภารกิจภายใต้การสวมหมวก 2 ใบของ“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์”
หมวกใบแรก ตำแหน่ง“รองนายกฯซึ่งภารกิจภายใต้หมวกใบแรกชัดเจนว่าได้เร่งอัดเม็ดเงินกระตุ้นการใช้จ่ายผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน ที่คาดว่าจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวมองว่า เพียงพอแล้ว เหลือแค่รอให้มาตรการเหล่านั้น ออกดอกออกผลต่อระบบเศรษฐกิจ
ส่วนภารกิจภายใต้หมวกใบที่สองในฐานะรมว.พลังงาน ประเดิมนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(กองทุนอนุรักษ์ฯ) เมื่อ 26 ส.ค.63 อนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนฯ ประจำปี 63 วงเงิน 2,066 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 5,600 ล้านบาท หลังล่าช้ามาหลายเดือน เพื่อให้เกิดการจ้างงานระดับท้องถิ่นโดยเร็ว
ต่อมานั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)นัดแรก เมื่อ 21 ก.ย.63อนุมัติต่ออายุมาตรการตรึงราคาแอลพีจี ครัวเรือน ถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาท อีก 3 เดือนถึงสิ้นปี63จากเดิมสิ้น 30 ก.ย.63 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
ขณะที่การดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน ได้ผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 15 ก.ย.63เห็นชอบยกเว้นหลักเกณฑ์ ให้ อพิโก้ (โคราช) ดำเนินการขออนุญาตสำรวจปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ป่าได้และเห็นชอบ ร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง B -17 & C – 19 และแปลง B – 17 – 01 พื้นที่ JDAที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 อีกทั้ง ครม.เมื่อ 22 ก.ย.63อนุมัติต่ออายุสัมปทานผลิตปิโตรเลียม แหล่ง S1 ให้ ปตท.สผ.สยาม อีก 10 ปีเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตปิโตรเลียมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ
ขณะเดียวกันยังเหลือภารกิจสำคัญที่ภาคเอกชนเฝ้ารอความชัดเจนและเป็นนโยบายคั่งค้างจากรัฐมนตรีฯคนก่อนที่รอเคลียร์ คือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯซึ่ง“สุพัฒนพงษ์”ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปอกเปลือกหลักเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด ทำเอาเอกชนป่วนไปหมดเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีฯนโยบายพลังงานก็เปลี่ยนทิศ จากรับซื้อ 700 เมกะวัตต์แรก ก็หั่นเหลือ100 เมกะวัตต์ และต้องมีพื้นที่ปลูกพืชใหม่กว่า 80%
ผู้ที่หวังจะมาต่อสายเชื่อมไฟเข้าระบบทันที ถึงกับหัวปั่นต้องแก้เกมกันใหม่ก็ต้องรอดูว่า สุดท้ายแล้วเงื่อนไขใหม่จะตกผลึกและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เดือนต.ค.63 ตามแผนที่ลั่นไว้ หรือจะเตะถ่วงต่อไป
อีกเรื่องสำคัญ ที่รอนำเสนอ กพช.ชี้ขาดเช่นกัน คือการปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่หลังเปิดทางให้ภาคเอกชน 3 ราย คว้าใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ไปครอบครอง เหลือแค่การนำเข้าจริง ว่าจะไฟเขียวให้ดำเนินการภายใต้กติกาใด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า อย่าให้ผลพวงจากนโยบายที่ออกมาส่งผลในทางลบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งประเทศ
นอกจากนั้น เรื่องของต้นทุนค่าไฟยังมอบโจทย์ใหญ่ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปทบทวนรายได้ของ 3 การไฟฟ้า เพื่อกดต้นทุนค่าไฟฟ้าลดภาระค่าครองชีพ ซึ่งเรื่องนี้ กกพ.ก็ต้องรีบส่งการบ้านภายในเดือน ต.ค.นี้ เช่นกัน
หวังว่า ท่านรองนายกฯและรมว.พลังงาน จะเร่งสร้างความกระจ่างนโยบายค้างท่อ พิสูจน์ฝีมือโดยเร็ว