สู้สงครามด้วยสวนครัว

สู้สงครามด้วยสวนครัว

ภาครัฐและภาคเอกชนเห็นพ้องต้องกันว่า การทำสวนครัว สามารถช่วยคนจนได้ในระดับหนึ่ง จึงพยายามส่งเสริมให้ทำสวนครัวชุมชนภายในเมืองอย่างจริงจัง

พจนานุกรมนิยาม “สวนครัว” ว่า “บริเวณที่ปลูกพืชผักที่ใช้เป็นอาหารในครัวเรือน” โดยมิได้บ่งบอกถึงขนาด  สำหรับ “สงคราม” นิยามหลักได้แก่ “การสู้รบครั้งใหญ่ของคนหลายกลุ่มที่ขัดแย้งกัน”  นอกจากนี้ ยังใช้ในบริบทอื่นเพื่อสะท้อนการต่อสู้ การแข่งขันและการปะทะกันอย่างรุนแรงอีกด้วย เช่น สงครามการค้า สงครามปาก และสงครามกับความยากจน

คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 13 พค. 2554 พูดถึงสวนครัวในกรุงวอชิงตันเนื่องจากตอนนั้นเจ้าฟ้าชายชาร์ล มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรเสด็จเยี่ยมสวนครัวในย่านคนจนของวอชิงตัน  การเสด็จนั้นมิใช่เพื่อการสร้างภาพเนื่องจากพระองค์ทรงสนพระทัยในหลายด้านรวมทั้งการทำสงครามกับความยากจน การใช้ทรัพยากรและสวนครัวอินทรีย์  พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรการทำสวนครัวชุมชนในวอชิงตันด้วยพระองค์เอง

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า แม้จะเป็นเมืองหลวงของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่วอชิงตันมีคนจนเป็นจำนวนมาก  ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเห็นพ้องต้องกันว่า การทำสวนครัวสามารถช่วยคนจนได้ในระดับหนึ่ง จึงพยายามส่งเสริมให้ทำสวนครัวชุมชนภายในเมืองอย่างจริงจัง  เมื่อครั้งนางมิเชลล์ โอบามา เป็นสตรีหมายเลข 1 ถึงกับสนับสนุนให้ทำสวนครัวกันภายในบริเวณทำเนียบขาว  ในปัจจุบัน วอชิงตันซึ่งมีประชากร 7 แสนคนมีสวนครัวชุมชน 68 แห่ง  บางแห่งยึดหลักเกษตรอินทรีย์อย่างเคร่งครัด  บางแห่งมีขนาดนับสิบไร่ซึ่งแบ่งซอยเป็นแปลงขนาดเล็กจำนวนมาก

สหรัฐเป็นประเทศอุตสาหกรรมแบบเบ็ดเสร็จ  แม้แต่เกษตรกรรมก็ทำกันขนาดใหญ่จนกลายเป็นการทำอุตสาหกรรมแบบหนึ่งซึ่งใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานคนและสัตว์  ด้วยเหตุนี้ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จึงตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านโรงงานอุตสาหกรรม หรือไม่ก็ในเมือง  ความรู้เรื่องการปลูกพืชจึงหายไปพร้อมกับการทำเกษตรกรรมแบบในครอบครัว  กระนั้นก็ตาม ยังมีผู้เชื่อมั่นในความสำคัญของการรักษาภูมิปัญญาในการปลูกพืชไว้เพื่อนำออกมาใช้ได้ทันที ทั้งนี้เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าเมื่อเกิดปัญหาร้ายแรง สวนครัวสามารถช่วยลดปัญหาได้ในระดับหนึ่ง  ความเชื่อมันนี้ได้รับการยืนยันหลายครั้งรวมทั้งในระหว่างสงครามโลกและในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจยืดเยื้อเมื่อชาวอเมริกันทำสวนครัวอย่างกว้างขวาง    

ในกรุงวอชิงตัน โครงการสวนครัวชุมชนได้รับความสนใจอย่างจริงจังอีกครั้งหลังชาวอเมริกันต้องทำสงครามกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก  โครงการต่าง ๆ มีผู้ประสงค์จะเข้าร่วมเกินพื้นที่ของโครงการเป็นจำนวนมาก  ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนจึงพยายามแสวงหาพื้นที่เพิ่มสำหรับสนองความประสงค์ของชาววอชิงตันในฤดูกาลเพาะปลูกหน้าซึ่งจะมาถึงในเดือนมีนาคม นอกจากบทบาทในด้านเศรษฐกิจแล้ว เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสวนครัวชุมชนสามารถช่วยลดปัญหาสังคมได้ เช่น ความว้าเหว่เศร้าซึมลดลงเมื่อผู้อยู่แต่ลำพังภายในบ้านออกไปใช้เวลาทำงานอยู่กับดินและพืชพร้อมกับได้พบปะกับผู้ที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน  สภาพความรกร้างของพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมักเป็นที่สะสมขยะและที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้ายลดลงได้มากหากมันกลายเป็นสวนครัว

สำหรับในเมืองไทย แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงดูจะจูงใจให้ คนไทยสนใจทำสวนครัวกันมากขึ้น  แต่มักเป็นการทำแบบตามบ้านของตน มิใช่ทำแบบสวนครัวชุมชนแบบในสหรัฐ  เนื่องจากในเมืองเล็กใหญ่ มีพื้นที่ว่างอยู่ทั่วไป ประเด็นจึงอยู่ที่เราจะทำอย่างไรจึงจะนำพื้นที่เหล่านั้นมาใช้ทำเป็นสวนครัวชุมชนจนกว่าเจ้าของจะนำไปใช้ทำตามความประสงค์ของตน  มองให้กว้างออกไป เมืองไทยโชคดีที่สังคมเมืองกับชนบทยังไม่ตัดขาดจากกันแบบสังคมอเมริกัน  คนไทยส่วนหนึ่งจึงกลับไปพึ่งพาบ้านเกิดที่ยังทำเกษตรกรรมซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นสวนครัวขนาดใหญ่ได้ในยามวิกฤติเช่นเมื่อปี 2540 และเมื่อโควิด-19 รุกราน 

ประเด็นจึงอยู่ที่เราจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เกษตรกรรมแบบในครอบครัวอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคงและความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบทยังแข็งแกร่ง  แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดแก่ประเด็นนี้เพราะมองว่ามันเป็นอาวุธหลักของการทำสงครามกับความยากจนในเมืองไทย  สงครามนี้จะชนะได้ด้วยการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัดทั้งโดยภาครัฐและภาคเอกชน