ทฤษฎีว่าด้วยการฟื้นเศรษฐกิจกับประเทศไทย (2) Y=C+I+G-T+X-M
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึง 2 ภาคเศรษฐกิจใหญ่คือภาคการส่งออกสินค้าและบริการ (ประมาณ 60% จีดีพี) และภาคการบริโภค (50% จีดีพี)
2 ภาคเศรษฐกิจใหญ่นี้น่าจะฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า ทำให้การฟื้นตัวโดยรวมของเศรษฐกิจไทยใน 2-3 ปีข้างหน้าไม่สดใสมากนักและการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเล็กน้อยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาก็น่าจะอ่อนตัวลงไปอีกใน 3-6 เดือนข้างหน้า เพราะยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศหลักๆ ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากและคงจะเพิ่มขึ้นอีกเพราะกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวและเมื่อเป็นเช่นนั้นประเทศไทยก็จะยิ่งไม่ต้องการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ กระทรวงท่องเที่ยวประเมินว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 0.75 ล้านล้านบาทถึง 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนต่างนั้นคำนวณจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจทำรายได้ให้ประเทศไทยในปีหน้าเพียง 0.25 ล้านล้านบาทถึง 1.0 ล้านล้านบาทเท่านั้นเมื่อเทียบกับปี 2019 ที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2 ล้านล้านบาทและจากคนไทยเที่ยวไทยอีก 1 ล้านล้านบาท
ดังนั้น จึงต้องหันมาดูภาคเศรษฐกิจอื่นอีกซึ่งภาคการส่งออกสินค้าและบริการและภาคการบริโภคนั้นผมได้กล่าวถึงไปแล้วและครั้งนี้จึงขอเขียนเกี่ยวกับการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ
- การลงทุนเอกชน: มีสัดส่วนประมาณ 25-30% ของจีดีพีและแม้จะไม่ได้มีสัดส่วนสูงเท่ากับการส่งออกหรือการบริโภค แต่จะมีความสำคัญสูงสุดในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและความยั่งยืน ทั้งนี้เพราะการลงทุนมีประโยชน์หลายประการคือ
- ทำให้มีการใช้จ่ายในทันทีเมื่อเริ่มลงทุนรวมทั้งการจ้างงานที่จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย
- เป็นการสร้างกำลังการผลิตและการจ้างงานในอนาคตอีกยายนานหลายสิบปี ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและจีดีพีเพิ่มขึ้นในระยะยาว แตกต่างจากการใช้จ่ายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ผลในเวลาอันสั้นแล้วก็หมดไป
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่มาในประเทศไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในอุปกรณ์หรือเครื่องจักรรุ่นใหม่หรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ย่อมจะต้องดีกว่าของเดิม ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการบริหารเข้ามาใช้ซึ่งล้วนแต่จะเป็นการทำให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มผลิตภาพ ดังนั้นการลงทุนและเทคโนโลยีจึงเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนความเจริญของประเทศในระยะยาวอย่างแท้จริง
ดังนั้นผมจึงจะให้ความสำคัญมากที่สุดกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่มีความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายในประเทศว่าประเทศไทยมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงในการเดินไปข้างหน้าเพื่อเผชิญกับโลกที่ต้องอยู่กับ COVID-19 ความเชื่อมั่นดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากเพราะดังที่เรารับรู้กันในตำราเศรษฐศาสตร์ว่าการลงทุนนั้นไม่ขึ้นกับจีดีพี (จึงใช้คำว่าเป็น autonomous expenditure) และอาจขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยบ้างแต่เป็นส่วนน้อย โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนจะ “กล้า” ลงทุนก็เมื่อมีความมั่นใจว่าอนาคตสดใส ทำให้มีความกล้าได้กล้าเสียหรือที่ Keynes กล่าวว่าเป็น “animal spirits” ของผู้ประกอบการ
2.การใช้จ่ายของภาครัฐและการเก็บภาษี:คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24-25% ของจีดีพีตามลำดับ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่จะมาขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจได้มากนัก เว้นแต่การใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งในกรณีของไทยนั้นงบประมาณตรงนี้น่าจะมีไม่เกิน 4-5% ของจีดีพีเท่านั้น ในส่วนอื่นๆ นั้นจะเป็นการเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อไปจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการกับการนำเอาเงินไปอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือการใช้จ่ายของรัฐส่วนใหญ่นั้นน่าจะเป็นการช่วยแบ่งเค้ก (จีดีพี) ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ขนาดของเค้กใหญ่ขึ้น
ดังนั้น ส่วนของการใช้จ่ายของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวนั้นมีไม่มากนัก กล่าวคือการลงทุนของภาครัฐนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4-5% ของจีดีพี ส่วนนี้สามารถมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน (อีก 25% ของจีดีพี) ได้หากเป็นการลงทุนที่เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดยุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ชัดเจน
กล่าวคือรัฐบาลรู้ว่าจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใด ไปยืนจุดไหนในเศรษฐกิจโลกหลัง COVID-19 ภาคเอกชนก็จะ “รู้ทาง” และเกิดความมั่นใจนะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในสภาวะปัจจุบันที่ดูเสมือนว่าจะปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อทั้งหมดโดยไม่มีทิศทางในภาพใหญ่ที่ชัดเจนนั้น มีความเสี่ยงว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างแบบ “ซื้อเวลา” เพื่อรอวัคซีน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทยนอกจากจะขาดทิศทางแล้วก็ยังจะขาดพลังอีกด้วย โดยเฉพาะในสภาวะที่การเมืองมีความไม่แน่นอนและมีความขัดแย้งสูงครับ