เตรียมรับมือChina+1โมเดลธุรกิจใหม่ของบริษัทต่างชาติในจีน
วิกฤติ COVID-19 ที่ปะทุขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง
รวมถึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ในหลายแวดวงธุรกิจ โดยหนึ่งในกระแสที่ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง คือ Global Supply Chain Disruption โดยเฉพาะหลังจากที่ COVID-19 ทำให้จีนซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลาง Supply Chain สำคัญของโลกต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างกะทันหัน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก (ข้อมูลจาก Chartered Institute of Procurement and Supply ระบุว่าบริษัทใหญ่ที่สุดของโลก 1,000 อันดับแรกพึ่งพา Supply Chain จากจีนเป็นหลัก)
เมื่อผนวกกับวิกฤตสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่กลางปี 2561 ส่งผลให้ฐานการผลิตในจีนมีความน่าสนใจน้อยลงจากข้อจำกัดและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทต่างชาติในจีนเริ่มทบทวนและปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจในจีนครั้งใหญ่
หนึ่งในโมเดลธุรกิจใหม่ที่บริษัทต่างชาติในจีนหลายบริษัทเริ่มนำมาใช้ คือ China+1 ซึ่งหมายถึงการปรับแผนการลงทุนใหม่ในจีน ทั้งการลดสัดส่วนการลงทุนหรือลดกำลังการผลิตในจีนลง ควบคู่ไปกับการมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ที่มีศักยภาพในประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างหรือเชื่อมโยง Supply Chain เส้นใหม่ให้แก่ธุรกิจของตน ช่วยบรรเทาปัญหาการพึ่งพา Supply Chain ของจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบและระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจทั้งด้านแรงงานและภาษี ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการปรับนโยบายของหลายบริษัทที่มีฐานการผลิตในจีน เช่น บริษัท Apple มีแผนให้ Supplier ลดสัดส่วนการผลิตในจีนลงราว 15-30% ทำให้บริษัท Foxconn ซึ่งเป็น Supplier หลักของ Apple เตรียมย้ายฐานผลิตบางส่วนออกจากจีน ในเบื้องต้นคาดว่าจะย้ายไปลงทุนในอินเดียมูลค่าราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับบริษัท Pegatron
อีกหนึ่ง Supplier ของ Apple ในจีนมีแผนขยายการลงทุนไปยังเวียดนาม ขณะที่บริษัท LG Chemicals ของเกาหลีใต้ที่มีฐานการผลิตแบตเตอรี่หลักอยู่ในจีน มีแผนจะย้ายไปสร้างฐานการผลิตใหม่ในอินโดนีเซียด้วยเงินลงทุนราว 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงบริษัทในเครือ Mazda ของญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีนไปเม็กซิโกแล้ว
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าโมเดล China+1 ของบริษัทต่างชาติในจีนอาจส่งผลกระทบมาถึงไทย โดยเฉพาะในมิติของการส่งออก เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยมาโดยตลอดด้วยสัดส่วนการส่งออกราว 10-12% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่มีมูลค่าสูงสุด 30 อันดับแรก (สัดส่วนรวมกันราว 80% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยไปจีน) พบว่าในจำนวนนี้เกือบ 70% เป็นกลุ่มวัตถุดิบและส่วนประกอบ โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และที่เกี่ยวเนื่อง (สัดส่วนราว 20%) และยานยนต์และชิ้นส่วน (ราว 15% รวมยางและผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นวัตถุดิบผลิตยางล้อรถยนต์) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกเพื่อไปเชื่อมโยงกับ Supply Chain ทั้งบริษัทของจีนและบริษัทต่างชาติที่ตั้งฐานการผลิตในจีน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทต่างชาติในจีนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์เป็นกลุ่มที่เริ่มนำร่องดำเนินนโยบาย China+1 แล้ว ขณะที่บริษัทจีนหลายแห่งก็เริ่มย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีนเช่นเดียวกัน ทำให้ในระยะถัดไปอาจเริ่มเห็นผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าเหล่านี้
ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ท่านผู้ส่งออกควรเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวและวางแผนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยผมขอให้คำแนะนำเบื้องต้น ดังนี้ 1) Update ติดตามการปรับนโยบายหรือแผนธุรกิจใหม่ของคู่ค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับ Supply Chain เส้นใหม่ของคู่ค้าได้อย่างไร้รอยต่อและทันท่วงที 2) Upgrade ยกระดับกระบวนการผลิตและสินค้า
ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้มีศักยภาพพร้อมเชื่อมกับ Supply Chain เส้นใหม่หรือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น และ 3) Look Up มองหาคู่ค้าใหม่ในตลาดหรือ Supply Chain ใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ในกรณีที่ Supply Chain หลักอย่างจีนสะดุดหรือมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม จีนยังเป็นหนึ่งใน Supply Chain สำคัญของโลกและเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย จึงควรดำเนินกลยุทธ์บนหลักการที่สมดุล ทั้งการรักษาสายสัมพันธ์
กับ Supply Chain ของจีน ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสใหม่และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างเหมาะสม ภายใต้
การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกยุคใหม่
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK