การรับรู้ที่บิดเบือน
จากสถานการณ์ในช่วงนี้ ทำให้ได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายๆ ท่านมักจะชอบพูดถึงคำว่า Perception is not reality สิ่งที่รับรู้ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
เมื่อค้นประโยคดังกล่าวดูก็พบว่า Perception is not reality เป็นประโยคที่มีนักจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์ และบรรดานักวิชาการในต่างประเทศได้ทำการศึกษา ทดลองและออกมาเป็นงานวิชาการกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสรุปง่ายๆ ก็คือสิ่งที่สายตาและสมองของเรารับรู้นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือความจริงเสมอไป
จริงอยู่ที่มนุษย์อาศัยการรับรู้ เพื่อแปลข้อมูลต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ก็มักจะต้องเผชิญกับปัจจัยที่ทำให้การรับรู้ข้อมูลถูกบิดเบือนข้อเท็จจริงไปได้โดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด นักวิชาการได้มีการรวบรวมปัจจัยยอดนิยมที่ส่งผลทำให้การรับรู้บิดเบือนและอาจจะสามารถใช้เป็นสาเหตุในการอธิบายสาเหตุของการตัดสินใจที่ผิดพลาดต่างๆ ไว้หลายประการด้วยกัน อาทิเช่น
Anchoring คือการที่ยึดติด ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับข้อมูลแรกที่ได้รับมากเกินไปและทำให้ข้อมูลแรกที่ได้รับนั้นมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลอื่นๆ ตามมา ตัวอย่างเช่นเวลาเจรจาต่อรองต่างๆ (เช่น เงินเดือน ซื้อขายสินค้า) ราคาที่ถูกเสนอราคาแรกจะกลายเป็นราคาอ้างอิงที่ใช้ในการต่อรอง ทั้งๆ ที่ราคาแรกที่เสนอนั้นอาจจะไม่ใช่ราคาที่เหมาะสมแต่ประการใด ดังนั้นลำดับขั้นที่คนได้รับข้อมูลย่อมมีความสำคัญต่อการรับรู้และการตัดสินใจต่อไปในอนาคต
Confirmation bias คือการที่คนจะเลือกรับรู้แต่ข้อมูลที่ตรงและช่วยยืนยันในความเชื่อที่มีอยู่ คนจะเห็นด้วยกับแนวคิดที่ตรงกับความเชื่อที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่มีอยู่แล้วก็มักจะได้รับการปฏิเสธ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าเมื่อใดที่มีความขัดแย้งทางความเชื่อ โอกาสในการเปิดใจและเจรจาตกลงกันจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
Groupthink เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเป็นกลุ่ม เนื่องจากเมื่อต้องคิดหรือตัดสินใจเป็นกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มมักจะคล้อยตามกับความเห็นของผู้นำกลุ่มหรือคนส่วนใหญ่ในกลุ่มทั้งๆ ที่ตนเองอาจจะไม่เห็นด้วยหรือมีข้อโต้แย้งกับความคิดของกลุ่ม แต่ก็เลือกที่จะเงียบและคล้อยตามความเห็นของกลุ่มทั้งๆ ที่สิ่งที่บุคคลผู้นั้นคิดอาจจะถูกต้องก็ได้ นอกจากนี้ภายใต้ Groupthink ยังมีปัญหา Bandwagon effect ที่ความเชื่อของคนๆ หนึ่งจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อจำนวนคนที่มีความเชื่อหรือมีความคิดเห็นสนับสนุนต่อเรื่องราวดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาทั้งจาก Groupthink และ Bandwagon effect ล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการประชุมหรือการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม นั้นคือคนจะมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามความเห็นของกลุ่มมากกว่าที่จะโต้แย้งหรือขัดแย้งกับสมาชิกคนอื่นๆ อีกทั้งยิ่งถ้าจำนวนคนที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้เป็นการตอกย้ำความเห็นหรือความเชื่อดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
Recency หรือแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญต่อข้อมูลที่ได้รับล่าสุดมากกว่าข้อมูลในอดีต ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะละเลยต่อข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่สำคัญในอดีต ทำให้การรับรู้มุ่งเน้นแต่ข้อมูลใหม่ๆ โดยไม่สนใจต่อข้อมูลในอดีต และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด
Stereotyping ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหายอดนิยม ซึ่งคือการคาดหวังว่ากลุ่มบุคคลจะมีคุณลักษณะหรือสมบัติบางประการ และคิดว่าคนทุกคนในกลุ่มจะมีคุณลักษณะดังกล่าว เช่น คิดว่าคนรุ่นใหม่จะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ดังนั้นเมื่อพบเจอคนอายุน้อยๆ ก็จะคิดว่าบุคคลผู้นั้นมีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีไปด้วย
Blind-spot bias หรือการที่บุคคลแต่ละคนเองไม่สามารถมองเห็นและยอมรับได้ว่าตนเองมีอคติในการรับรู้ ก็ถือเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากเราจะมองเห็นอคติในการรับรู้ของบุคคลอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อถึงตนเองแล้วกลับมองไม่เห็นและไม่ยอมรับต่ออคติในการรับรู้ของตนเองที่มีอยู่
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแค่บางส่วนของสาเหตุที่ทำให้การรับรู้ของเราบิดเบือน และทำให้คิดว่า Perception is reality และอาจจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงประเทศชาติ