ชีวิตและตัวตนที่ต้องค้นหา
การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานไม่ใช่การเสียเวลา
สำหรับคนรุ่นเก่าที่เห็นคนรุ่นใหม่ใช้เวลา “ค้นหาตัวเอง” แล้วรู้สึกเสียดายเวลาที่พวกเขาใช้ไป เพราะบางคนก็ใช้เวลาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อจบมาทำงานด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียนมาเลย จึงอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาเสียเวลาไปกับการเรียนเฉยๆ
บางคนใช้เวลา 1-2 ปีกับการเรียนในสาขาหนึ่งก่อนจะเปลี่ยนใจไปเรียนอีกสาขาหนึ่งเพื่อที่จะค้นพบว่าทั้ง 2 สาขาวิชานี้ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับเป้าหมายในชีวิตของเขา จึงเปลี่ยนไปเรียนอีกสาขาหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าต้องเสียเวลาไปอย่างน้อย 3-4 ปี
ความเสียเวลาในมุมมองของคนรุ่นหนึ่ง แต่เป็น “ประสบการณ์” ในมุมมองของอีกรุ่นหนึ่ง เพราะผมเชื่อว่าหากพวกเขาใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์เพื่อค้นหาตัวเองอย่างจริงจังแล้วละก็ เวลาที่ผ่านเลยไปนั้นก็เป็น “กระบวนการ” หนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางในการดำเนินชีวิตในอนาคต
คนรุ่นใหม่หลายคนที่สมัยยังเป็นวัยรุ่นอาจเคยถูกตราหน้าว่าเป็นคนจับจด ไม่จริงจัง รวมถึงถูกมองว่าสมาธิสั้นเพราะไม่สนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง แต่จะเปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นๆ ตลอดเวลาจนดูเหมือนทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง
แต่ท้ายที่สุดเมื่อเขา “ตกผลึก” มากพอแล้วเขาก็สามารถสร้างเส้นทางสู่ความสำเร็จเป็นของตัวเองได้ โดยใช้พื้นฐานจากสิ่งที่ลองผิดลองถูกมาอย่างละนิดอย่างละหน่อย เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบอย่างจริงจังได้
เด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ดูเหมือนกำลังหลงทาง แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาอาจจะอยู่ในกระบวนการของการบ่มเพาะตัวเองเพื่อให้มีความพร้อมที่สุดต่างหาก ซึ่งมุมมองเช่นนี้แตกต่างกันมากกับคนรุ่นเก่าที่ทำทุกอย่างเป็นขั้นตอนและไม่อยากเสียเวลาให้กับเรื่องที่ไม่จำเป็น
การปรับมุมมองใหม่เช่นนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมามีบทบาทในการทำงานยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ สังคม และการเมือง และในอีกมิติหนึ่งก็เพื่อปรับปรุงตัวเองให้สอดรับกับโลกใบใหม่ด้วยเช่นกัน
เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงเหลือเชื่อ หากคนรุ่นเก่ายังยึดติดกับความรู้หรือค่านิยมเดิมๆ ย่อมไม่เกิดพัฒนาการที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เลย
การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของเราจึงไม่ใช่การเสียเวลา แต่เป็นการเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้นเพื่อทำให้เราปรับตัวรับสิ่งใหม่ได้ง่ายมากขึ้น
หากเราเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆ สนใจความเป็นไปของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แล้วตั้งคำถามว่ามันเป็นแบบนี้ได้อย่างไร มีกลไกอย่างไร ฯลฯ แล้วลงมือหาคำตอบด้วยตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมทำให้เรามีความร่วมสมัยและกลายเป็นความสุขที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
เพราะข้อจำกัดของร่างกายมนุษย์ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้นหรือมีการใช้งานมากเกินพิกัด จะยกเว้นก็เพียงกล้ามเนื้อและ “สมอง” ของเราเท่านั้นที่ยิ่งใช้ก็จะยิ่งคงประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
การหมั่นคิดเรื่องใหม่ๆ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่จึงไม่เพียงเปิดโอกาสให้เขาได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต แต่เป็นหนทางในการพัฒนาตัวเราเองให้เข้ากับโลกใบใหม่ และปรับตัวสู่สังคมใหม่ได้อย่างเป็นสุข
การค้นหาตัวเองให้พบจึงไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใหม่ๆ เท่านั้น แต่คนทุกรุ่นควรจะหมั่นค้นหาตัวเองอยู่เป็นระยะๆ เพื่อที่จะมีตัวตนในโลกใบใหม่ โดยไม่ปล่อยให้ประสบการณ์ที่เคยสะสมมาต้องละลายหายไปในวังวนของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา