ประธานาธิบดีสหรัฐในห้วงความ 'ขัดแย้ง'
ขณะที่เขียนบทความนี้ ผู้เขียนยังไม่ทราบผลสรุปสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างทรัมป์กับไบเดนเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา
ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง 2020 รอบนี้ จะกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งสำคัญทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเพิ่มหรือลดภาษี ขนาดของการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระบบประกันสุขภาพ ระบบการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาความขัดแย้งเรื่องสีผิวที่นำไปสู่การจลาจลที่ใช้ความรุนแรงเข้าปะทะกัน เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ไม่นาน โกลด์แมนแซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐได้ออกมาคาดการณ์ว่า หากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตคือ โจ ไบเดน สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้แล้ว พร้อม ๆ กับที่พรรคเดโมแครตก็สามารถกวาดเสียงข้างมากทั้งในสภาล่างและสภาบนแล้ว เศรษฐกิจของสหรัฐก็จะมีโอกาสฟื้นตัวได้มากขึ้นและในเวลาที่รวดเร็วขึ้นด้วย
หลายคนอาจจะงงกับความเห็นของโกลด์แมนแซคส์ในเรื่องนี้ เพราะนโยบายเศรษฐกิจหลักประการหนึ่งของพรรคเดโมแครตก็คือการปรับขึ้นอัตราภาษีให้สูงขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นภาษีน่าจะเป็นอุปสรรคต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากขึ้นมิใช่หรือ
คำตอบก็คือว่า นอกจากการปรับอัตราภาษีให้สูงขึ้นแล้ว ประธานาธิบดีและผู้แทนจากพรรคเดโมแครตก็จะมีการผลักดันให้ใช้นโยบายปรับเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐสำหรับโครงการขนาดยักษ์หลาย ๆ โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ระบบเครือข่ายถนนและสะพานที่มีสภาพทรุดโทรมเพราะมีการใช้งานมาแล้วอย่างยาวนาน การลงทุนพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน การลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี่ การลงทุนในระบบการศึกษา การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่ได้รับความเห็นชอบและได้เสียงสนับสนุนจากชาวบ้านและชนชั้นนำฝ่ายก้าวหน้าในเขตเมืองและมหานครทั่วสหรัฐอเมริกามากกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ซึ่งฝ่ายก้าวหน้าเหล่านี้เชื่อว่าแผนของพรรคเดโมแครตในเรื่องการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากขึ้น ซึ่งพรรคเดโมแครตจะผลักดันมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐให้สำเร็จได้หากพรรคเดโมแครตสามารถครอบครองเสียงข้างมากทั้งในสภาล่างและสภาสูง อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ก็มีข้อเสียได้ไม่น้อยเช่นกัน เพราะมันจะทำให้ภาครัฐมีภาระหนี้ที่เพิ่มสูงมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแหมากเกินไปก็จะเป็นการอุ้มธุรกิจเอกชนที่ไม่มีประสิทธิภาพให้อยู่รอดได้โดยไม่ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สาเหตุที่ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ กลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนสหรัฐมากขึ้นสำหรับการเลือกตั้งในปี 2020 นี้ ก็คือการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีนี้นั่นเอง
ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 พบว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากในรอบ 50 ปี แต่โควิด-19 ได้ส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองของปีนี้มีค่าติดลบไปถึง 31.4% และอัตราการว่างงานกลับมาพุ่งสูงขึ้นไปถึง 14.7% ในช่วงต้นปีนี้ แม้จะค่อย ๆ ลดลงในช่วงเดือนหลังมาอยู่ที่ราว 3.5% ก็ตาม ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงหลังก็กลบมีมูลค่าที่สูงเกินจริง (overvalued) คิดเป็นราว 87.5% อันเนื่องมาจากการเก็งกำไรของนักลงทุนที่พยายามหาช่องทางการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในยามวิกฤตเช่นนี้
แน่นอนว่าปัญหาการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และตามมาด้วยการล็อคดาวน์ในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วสหรัฐอเมริกานั้น ย่อมจะทำให้มีผู้คนจำนวนมากที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยในช่วงต้นนั้น รัฐสภาของสหรัฐได้อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 (stimulus package) คิดเป็นเงินสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สองนั้น ทางรัฐสภาสหรัฐยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีสาเหตุทางอ้อมส่วนหนึ่งมาจากการคาดหวังผลทางการเมืองที่จะมีต่อการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสหรัฐส่วนใหญ่ก็จะได้มีโอกาสใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของพวกเขาเอง และหากพวกเขาพบว่าได้ตัดสินใจผิดพลาดในรอบนี้ พวกเขาก็ยังจะมีโอกาสในอีก 4 ปีข้างหน้าที่จะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งใหม่และทำโทษพรรคการเมืองที่ทำให้เขาผิดหวังได้อีก ซึ่งก็เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยสไตล์อเมริกัน แต่ในรอบนี้ ก็อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นว่า การประกาศผลการเลือกตั้งในเที่ยวนี้อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความวุ่นวายที่จะตามมาจากฝ่ายสนับสนุนที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งนี้ แต่ก็เชื่อว่า คนอเมริกันจะปรับตัวให้ผ่านพ้นและเรียนรู้จากผลการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ได้ด้วยดีในที่สุด
*บทความโดย ศ.ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา, กนิษฐา หลิน