สู่อนาคต Data-driven Culture
คงไม่แปลกที่องค์กรใหญ่หลายองค์กรในบ้านเราต่างแข่งกันประกาศวิสัยทัศน์ว่า จะก้าวไปสู่การเป็น Data-Driven Organization
Data-Driven Organization คือเป็นองค์กรที่ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจและมีการวางผังโครงสร้างองค์กรเพื่อให้รองรับการเชื่อมโยงและบริหารจัดการ Big Data รวมถึงดึงตัวผู้เชี่ยวชาญด้าน Data เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเพื่อฟอร์มทีมใหม่ด้วย Skill set ใหม่ เช่น Data Science, Data Engineer, และ Data Analyst ที่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
เพราะการนำพาองค์กรไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานที่มีความเป็น “Scientific” มากกว่าการตัดสินใจแบบเดิม ๆ ด้วย “ความเห็น” หรือ “ประสบการณ์” ของผู้บริหาร กำลังเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ กลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เช่น FAMGA – Facebook, Amazon, Microsoft, Google, Apple เพิ่มตำแหน่งงานของพนักงานในสายงานด้าน Data บริษัทละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตำแหน่งต่อปี อีกทั้งเข้าลงทุนใน Data Science Startup ที่โดดเด่นอีกหลายบริษัท เช่น Dataiku และ Data Robot ทำให้สตาร์ทอัพกลุ่มนี้กลายเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ที่น่าจับตามอง
บริษัทวิจัยชั้นนำคาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า กว่า 20% ของตำแหน่งงานภายในองค์กรขนาดใหญ่จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ Data ส่วน Data Science จะกลายเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสำคัญๆ เช่นการจัดการ Business Portfolio, การบริหาร Customer Experience, การปรับช่องทางการตลาด รวมถึงการจัดการทรัพยากร (Resources Allocation)
แต่การวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตมักจะเต็มไปด้วยอุปสรรคเสมอ ผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า การจะทำให้องค์กรกลายเป็นองค์กรที่ Data-driven ได้สำเร็จ จริง ๆแล้วต้องเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสูงสุดภายในองค์กร การตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อมารับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยน Data ให้เป็น Insights อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย อุปสรรคของการเป็น Data-driven organization ที่แท้ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของ Technical หรือการสรรหาบุคลากร แต่อยู่ที่ว่าจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไรให้คนในองค์กรมองภาพอนาคตผ่านเลนส์อันเดียวกัน
หัวใจสำคัญในการก้าวสู่อนาคตก็คือการมีวิสัยทัศน์แบบ Data Driven Business มีการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการตัดสินใจอยู่เสมอ องค์กรต้องมีการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็น Real-Time เพื่อสามารถสร้าง Model การใช้ข้อมูลใหม่ๆ แบบ Dynamic มีการวิเคราะห์ และวิจัยสิ่งใหม่ โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวแปรสำคัญ นอกเหนือจากประเด็นเรื่อง Technical แล้ว การสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ การตัดสินใจแบบเดิมที่ยึดเอา Dashboard เป็นกรอบแต่กระบวนการตัดสินใจยังขึ้นอยู่กับความคิดความเห็นของผู้บริหารจำเป็นจะต้องถูกเปลี่ยนแปลง แนวทางการทำงานต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแบบ Data Talk/Data Decide
โจทย์สำคัญอีกหนึ่งโจทย์ ก็คือต้องไม่ทำให้ทีมงาน Data Scientists ทำงานแบบโดดเดี่ยว หลายองค์กรนำเอาทีมงาน Data Scientists เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Business Unit เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน วาระสำคัญที่ผู้บริหารองค์กรต้องทำควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดการทำงานแบบ Data First ก็คือการให้ความรู้กับคนในองค์กรเรื่องความสำคัญของข้อมูลและการใช้ Metrics ที่ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงเข้าใจและมีส่วนร่วมได้โดยสามารถเชื่อมโยงกับขอบเขตความรับผิดชอบที่แต่ละหน่วยงานทำอยู่
เมื่อ Data คือกลไกขับเคลื่อนอนาคต สิ่งแรกที่ CEO ต้องทำก็คือ สร้างแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนต้องการมี “ส่วนร่วม” และมี “Data-Driven Mindset”