ระเบียบโลกใหม่ (New World Order)
ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมงาน SEC Capital Market Symposium และได้ฟัง อ.อาร์ม ตั้งนิรันดร ปาฐกถาในหัวข้อ “ระเบียบโลกใหม่”
ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมงาน SEC Capital Market Symposium และได้ฟัง อ.อาร์ม ตั้งนิรันดร ปาฐกถาในหัวข้อ “ระเบียบโลกใหม่” เห็นว่ามีประโยชน์มาก และน่าจะช่วยให้นักลงทุนมองเห็น Mega Trend ของโลกที่น่าสนใจในอนาคตไม่ไกลข้างหน้า ซึ่งนับว่าเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยทีเดียวเนื่องจากทั้งวิกฤติ COVID-19 และประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะผ่านพ้นไป และโลกธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนจากเอกภพ (Globalization) ไปสู่โลกทวิภพ (The Great Decoupling) (ดูคลิปวีดีโอเต็ม ๆ ได้ที่ https://fb.watch/1YCgB8TAm7/ )
อ.อาร์ม ใช้คำว่า K-Shape World Order แทนระเบียบใหม่ของโลกที่กำลังจะเกิดในอนาคตไม่ไกลข้างหน้า นั่นคือ หลังวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในรอบนี้ จะมีประเทศและธุรกิจสองชนิดคือกลุ่ม “ผู้ชนะ” ที่ฟื้นตัวและเติบโตได้อีกมาก กับกลุ่ม “ผู้แพ้” ที่แม้วิกฤติผ่านพ้นแต่ประเทศ และธุรกิจกลับโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา หรืออาจถึงขั้นหดตัวเพราะปรับตัวม่าทัน
ประเทศผู้ชนะคือประเทศที่เชื่อมโลก ประเทศผู้แพ้คือประเทศที่ปิดตัวเอง
ประเทศผู้ชนะคือประเทศที่ทันขบวนเทคโนโลยี ประเทศผู้แพ้คือประเทศที่ตกขบวนเทคโนโลยี
ประเทศผู้ชนะคือประเทศที่เน้นความยั่งยืน ประเทศผู้แพ้คือประเทศที่ไม่เน้นเรื่องความยั่งยืน
ธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นก็เช่นกัน
สองห่วงโซ่เชื่อมโลก
จากยุคสงครามการค้าในรอบ 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐฯ เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านผู้นำ ดูเป็นที่ชัดเจนว่าการค้าเสรีจะกลับมาในระเบียบโลกใหม่รอบนี้ และที่อ.อาร์มกล่าวไว้น่าสนใจมากคือการค้าโลกกำลังจะเปลี่ยนจากโลกเอกภพ (Globalization) ไปสู่โลกทวิภพ (The Great Decoupling) ห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกกำลังถูกเขย่าและเพราะ 2 ห่วงโซ่หลักคือ “ห่วงโซ่สหรัฐฯเชื่อมโลก” และ “ห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก”
การชิงไหวพริบเรื่องข้อตกลงทางการค้ากลับมาอีกครั้งทั้ง RCEP ที่มีประเทศไทยได้ประโยชน์อยู่ด้วย และ CPTPP ที่ทรัมป์เอาประเทศสหรัฐฯ กลับออกไปก่อนหน้า โดยจีนรีบชิงไหวชิงพริบแสดงความจำนงค์สนใจเข้า CPTPP ทันที ขณะที่ไบเดนก็สนใจจะกลับมาเข้าร่วมในสนธิสัญญานี้เช่นกัน การปิดประเทศไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป หลังวิกฤต COVID-19 นั้นทุกคนต้องการเติบโต และการค้าการเปิดประเทศจะมีส่วนช่วยอย่างมาก
สำหรับประเทศไทย เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ห่วงโซ่ใดห่วงโซ่หนึ่ง แต่เราต้องคิดที่จะเชื่อมทั้งสองห่วงโซ่เข้าด้วยกัน ในบางอุตสาหกรรมเราเหมาะที่จะเชื่อมกับห่วงโซ่จีน และในบางอุตสาหกรรมเราเหมาะที่จะเชื่อมกับห่วงโซ่สหรัฐฯ
รถไฟขบวนเทคโนโลยี
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียังคงเป็นกระแสหลักของโลก ประเทศ หรือบริษัทที่ตกขบวนจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง จากวันนี้ที่เราแบ่งธุรกิจเป็น Tech กับ Non-tech แต่อีกไม่กี่ปีทุกบริษัท ทุกอุตสาหกรรมจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันจะกลายเป็นผู้แพ้ในทันที
ถ้ายุค 4.0 หมายถึงยุคอินเตอร์เนท โลกเราก็กำลังเข้าสู่ยุค 5.0 ที่ทุกคนจะคุยกับทีวี ตู้เย็นในบ้านผ่านระบบ AI เทคโนโลยีอย่าง Blockchain, Big Data, AR/VR บนความเร็วของระบบ 5G และ 6G กำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนมองว่าประเทศเราอยู่ในสถานการณ์ลำบากทีเดียวสำหรับรถไฟขบวนเทคโนโลยี เพราะเราไม่ได้มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เป็นของตัวเองเลย มีแต่อาศัยใช้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามรถไฟขบวนเทคฯ จะยังคงแล่นอย่างรวดเร็วต่อไป และทุกคนต้องพยายามปรับตัวให้ดีที่สุด และเอาตัวรอดจากการตกรถไฟขบวนนี้ให้ได้
หัวใจคือความยั่งยืน
คำว่ายั่งยืนในที่นี้สะท้อนได้ผ่านคำว่า ESG คือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ถึงเวลาที่ “ความยั่งยืน” โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาโลกร้อน จะกลายเป็น Mega Trend แล้ว ประเทศและธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่น เรื่องพลังงานสะอาด จะเป็นผู้ที่สามารถเติบโตได้
อ.อาร์ม ได้เล่าให้ฟังถึงความเหมือนของนโยบายของสีจิ้นผิง และ โจไบเดน ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเป็นรองประธานาธิบดี โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ 14 ของจีนสำหรับ ค.ศ. 2021 – 2025 ได้ระบุชัดถึงนโยบายเรื่องการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ขณะที่โจ ไบเดนได้มีระบุถึงคำว่า “New Deal” ซึ่งหมายถึงการลงทุนครั้งใหญ่ในธุรกิจพลังงานสะอาดเช่นกัน ใน 3 – 5 ปีข้างหน้าเราจะได้เห็นธุรกิจอย่าง Tesla ของสหรัฐฯ และ Nio ของจีนได้ขับเคี่ยวกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
อย่าปล่อยให้วิกฤติครั้งนี้สูญเปล่า
เรากำลังจะผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ การจัดระเบียบโลกใหม่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของวิกฤติครั้งนี้
ประเทศและธุรกิจที่เชื่อมโลกใหม่บนสองห่วงโซ่อุปทานหลักคือสหรัฐฯ และจีนจะสามารถกลับมาเติบโตต่อไปได้
ประเทศและธุรกิจที่ปรับตัวให้ทันขบวนรถไฟเทคโนโลยี คือผู้ที่สามารถอยู่รอดต่อไปได้
ประเทศและธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนจะสามารถหาเครื่องยนต์การเติบโตใหม่ให้กับตัวเองได้
สำหรับการลงทุนก็เช่นกัน แม้เศรษฐกิจจะผันผวน แต่เรากำลังอยู่ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องสูง โลกที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้น การลงทุนระยะยาวจะยังคงเป็น Mega Trend หลัก เทคโนโลยีก็กำลังเปลี่ยนแปลงตลาดทุน เพิ่มข้อมูลการเข้าถึงตลาดทุน และสร้างธุรกิจใหม่ นักลงทุนที่เข้าใจพลวัตรความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และรู้จักเลือกลงทุนจะสามารถเป็นผู้ชนะในการลงทุนยุค “ระเบียบโลกใหม่ (New World Order)” ครั้งนี้แน่นอนครับ
FundTalk รายงาน
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA https://www.finnomena.com/