Why We Age and Why We Don’t Have To (ตอน 1/3)
ในช่วงนี้ ดร.ศุภวุฒิ ขอพักเรื่องเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน และจะเปลี่ยนมานำเสนอเรื่องสุขภาพระดับเซลล์เชื่อมโยงถึงการชะลอหรือเยียวยาฟื้นฟูเซลล์ชรา
ในเดือนธันวาคมนี้ผมจะขอพักเรื่องเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน เพื่อรอให้ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนนำเสนอชื่อครม.ให้ครบถ้วนและให้เห็นการอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกัน COVID-19 สัก 2-3 ตำรับจึงจะกลับมาเขียนถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2021 ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นคือเศรษฐกิจจะยังขยายตัวอย่างกระท่อนกระแท่นหรืออาจชะลอลงอย่างมากในไตรมาส 1 แล้วจึงจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2021 หากสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกได้อย่างทั่วถึง (ประมาณ 75-85% ของประชากรทั้งหมด) ภายในปลายปีหน้า
แต่ในเดือนธันวาคมนี้จะขอเขียนถึงเรื่องที่เป็นหัวข้อซึ่งมีความสำคัญต่อผู้สูงวัยเช่นผม ซึ่งหยิบยืมชื่อหนังสือของดร. David Sinclair ที่ได้ตีพิมพ์จำหน่ายแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาคือ “Lifespan: Why We Age and Why We Don’t Have To” ในหนังสือเล่มนี้ดร. Sinclair ประเมินว่าปัจจุบันเทคโนโลยีในระดับเซลล์นั้นวิวัฒนาการไปถึงระดับที่มนุษย์ใกล้จะสามารถควบคุมการแก่ตัว (หรือไม่ให้แก่ตัว) ของเซลล์ได้แล้วในการทำการทดลองกับสัตว์และกำลังเข้าสู่การทำการทดลองกับมนุษย์ในช่วงอีกไม่นานข้างหน้านี้ และในบางกรณีก็ได้มีการค้นพบโดยบังเอิญแล้วว่าการหมุนเวลากลับทำให้มนุษย์อายุลดลงนั้นได้บังเกิดขึ้นแล้วดังที่ผมได้เคยเขียนถึงเมื่อต้นปีนี้จากงานวิจัยของดร. Gregory Fahy (“กินยา 3 ชนิดเป็นเวลา 1 ปีอายุลดลง 2.5 ปี” วันที่ 27 มกราคม 2563)
นอกจากนั้นในตอนที่แล้วผมได้เขียนถึงความสำเร็จที่ดีเกินคาดของการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยบริษัท Pfizer (กับ BioNTech) และบริษัท Moderna ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่คือ messenger RNA (หรือ mRNA) ซึ่งการนำเอา RNA ของโคโรน่าไวรัสไปสอดใส่เข้าไปในร่างกายของมนุษย์ให้สร้างโปรตีนปลายแหลม (spike protein) ของโคโรน่าไวรัสเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของตัวเราเองสามารถกำจัดโคโรน่าไวรัสได้นั้น ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญมากเพราะเปรียบเทียบได้ว่า ณ วันนี้มนุษย์เราค้นพบวิธีการเพื่อสั่งการให้ร่างกายของเราผลิตโปรตีนอะไรก็ได้ตามใจชอบแล้ว
ดังนั้น ในหลักการมนุษย์จะสามารถฉีด mRNA เข้าไปในร่างกายเพื่อผลิตโปรตีนให้ร่างกายนำไปใช้รักษาโรคต่างๆ ได้ทุกโรค เช่น ก่อนหน้าที่ COVID-19 จะระบาดนั้น บริษัท Moderna ได้พยายามใช้ mRNA สั่งการให้เซลล์สร้างโปรตีน vascular endothelial factor ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดหัวใจวายและต่อมาก็กำลังพัฒนา mRNA เพื่อสั่งการให้เซลล์ที่เป็นมะเร็งทำลายตัวเอง เป็นต้น หมายความว่าเทคโนโลยี mRNA นั้นทำให้ร่างกายของตัวเรากลายเป็นโรงงานผลิตยาของตัวเองเพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้ (จึงไม่แปลกใจว่าราคาหุ้นของ Moderna ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ประมาณ 20 เหรียญมาเป็น 120 เหรียญในขณะนี้)
แต่ที่ผมอยากเขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ร่วมกันคือ ทฤษฎีล่าสุดเกี่ยวกับการแก่ตัวของร่างกายของเราในระดับเซลล์ว่ามีลักษณะที่สำคัญอะไรบ้าง ซึ่งเรามักจะเข้าใจว่าการแก่ตัวของร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ กล่าวคือเมื่อเวลาผ่านไปร่างกายก็จะต้องเสื่อมถอยลงเป็นธรรมดาเมื่อมีการใช้งานมาเป็นเวลานานหลายสิบปีและหลายคนก็จะนึกถึงการที่ร่างกายต้องเผชิญกับอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่เกิดทั้งจากปัจจัยภายนอก (เช่น อาหารและอากาศเป็นพิษ) และที่เกิดจากภายในซึ่งล้วนแล้วแต่จะส่งผลในการบั่นทอนร่างกาย
ดังนั้น จึงต้องกินอาหารที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ทำให้อาหารที่โฆษณาว่ามีคุณประโยชน์ดังกล่าวเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งๆ ที่งานวิจัยเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ขายเป็นอาหารเสริมนั้นไม่สามารถช่วยให้สุขภาพดีขึ้นหรืออายุยืนขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น จึงควรเลือกกินผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมประเภทดังกล่าว
แนวคิดเกี่ยวกับการแก่ตัวของเซลล์นั้นได้พัฒนาไปไกลกว่าความเชื่อว่าร่างกายต้องเสื่อมถอยโดยธรรมชาติและ/หรือเกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจจะอ่านบทความที่รวบรวมแนวคิดล่าสุดเกี่ยวกับลักษณะของการแก่ตัว (ของเซลล์) นั้นสามารถอ่านได้จากวารสาร Cell เรื่อง “The Hall Marks of Aging” ที่ตีพิมพ์เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 ซึ่งผมได้พยายามอ่านและทำความเข้าใจอยู่เป็นเวลาหลายปีอยู่เพราะอ่านยากและยาวมาก
บทความดังกล่าวได้กล่าวถึงการแก่ตัวว่าเป็นการสูญเสียดุลทางสรีระของร่างกาย (loss of physiological integrity) ซึ่งนำไปสู่การทำหน้าที่ที่บกพร่องของร่างกาย (impaired function) และการเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเป็นโรคต่างๆ ที่ทำให้เสียชีวิตในที่สุดเช่นการเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน หัวใจและสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ได้แบ่งลักษณะของการแก่ตัวของร่างกายออกเป็น 9 ลักษณะคือ
- Genomic Instability
- Telomere Attrition
- Epigenetic Alteration
- Loss of Proteostasis
- Deregulated Nutrient Sensing
- Mitochondrial Disfunction
- Cellular Senescence
- Stem cell Exhaustion
- Altered Inter-cellular Communication
ในตอนต่อไปอีก 3 ตอนข้างหน้าผมจะพยายามอธิบายถึงความสำคัญของแต่ละลักษณะให้เข้าใจร่วมกันและความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดูแลทั้ง 9 ลักษณะดังกล่าวเพื่อเป็นการตอบโจทย์ในการทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องแก่ตัวลงครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง