ปลูกป่า ปลูกอนาคต
สวัสดีครับ แม้ว่าผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะยังไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน
แต่ความจริงข้อหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้นั่นคือโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันย้อนกลับ ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากภัยแล้ง พายุเฮอริเคน และน้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในขณะที่ปริมาณป่าไม้ทั่วโลกได้ลดจำนวนลงอย่างมาก กำลังสร้างผลกระทบต่อโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ และจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อลูกหลานของเราในอนาคต
งานวิจัยหลายชิ้นกระตุ้นให้เรากลับมาให้ความสำคัญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีการวิเคราะห์ว่าหากปราศจากแนวทางการจัดการกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม แนวโน้มอุณหภูมิของโลกอาจสูงกว่าเกณฑ์วิกฤตถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงแค่ไม่ถึงสององศาเซลเซียสนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำลายระบบนิเวศและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้ และนอกจากนี้ เช่นเดียวกับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อประชากรในกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานและกลุ่มเปราะบางในสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และจะยิ่งส่งผลทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและเชื้อชาติที่กำลังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้มีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ตลอดทั้งปีนี้ โลกได้เผชิญกับภัยคุกคามต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ข่าวการเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่ปะทุขึ้นมาในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในรัฐแคลิฟอร์เนียหรือป่าอเมซอนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นปอดของโลก ได้กลายเป็นข่าวร้ายที่ซ้ำเติมการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวและวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุของไฟไหม้ป่าที่ปรากฏตามหน้าสื่อครั้งแล้วครั้งเล่าก็เกิดจากการแผ้วถางพื้นที่ป่าเนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจมากกว่าการรักษาไว้ซึ่งความเขียวขจีของโลก
ป่าไม้ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ หากป่าไม้ถูกทำลายลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สัตว์ป่า ดิน น้ำ อากาศ รวมไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย หากไร้ต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้ น้ำก็จะไหลบ่าท่วมบ้านเรือนและที่ลุ่มในฤดูน้ำหลาก และเมื่อฤดูแล้งมาถึงก็จะไม่มีน้ำใต้ดินไว้หล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธารส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมทั้งในด้านของการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือน
เราทุกคนต่างทราบดีว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบสำคัญในการรับมือปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การรักษาความสะอาดของมหาสมุทร รวมไปถึงการสร้างสัมพันธภาพกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศต่างกำลังดำเนินนโยบายของตนเองอย่างขมักเขม้นในการหาทางออกจากปัญหาดังกล่าว ตัวอย่างหนึ่งในการสร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อแก้โจทย์ระดับโลกข้างต้น คือการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้การผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับนโยบายเงินทุนและอาศัยการประสานงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรภาครัฐและเอกชนไทยได้ร่วมกันสร้างภาคีความร่วมมือภายใต้โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการขาดพื้นที่สีเขียวด้วยการร่วมกันสร้าง แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าโดยชุมชน ตลอดจนติดตามการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกตลอดโครงการเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อคืนความสมดุลย์ให้กับระบบนิเวศสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อ 13 Climate Action และข้อ 17 Partnership for the Goal โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 900 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการปลูกป่า 500 ไร่ในกรอบระยะเวลา 1 ปีของโครงการ
แม้ว่าการปลูกป่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งการลงทุน ลงแรง และลงเวลากว่าจะผลิดอกออกผล แต่เราทุกคนสามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยการเริ่มจากปลูกต้นไม้ในสวนหลังบ้านและละแวกใกล้เคียง รวมถึงช่วยสนับสนุนงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่างๆ การผนวกเทคโนโลยีเข้ากับเจตจำนงอันแน่วแน่ในการปกป้องและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้พร้อมกับกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาโลกของเราให้คงอยู่ตราบนานเท่านานครับ