ทำอย่างไรให้ไทยเก่ง:พลิกตำรา สู่นโยบายเพื่อเพิ่มผลิตภาพ
ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกอยู่ในเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจน
จากเมื่อ 30 ปีก่อนที่เศรษฐกิจเติบโตได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพในระยะยาว กลับขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.4 ในปี 2019 ซ้ำร้ายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยิ่งตอกย้ำว่าไทยกำลังต้องพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้สำเร็จและยกระดับมาเป็นประเทศร่ำรวย (High-Income Country) เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะงักงันและไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้
เป้าหมายของไทยเพื่อที่จะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและกลายเป็นประเทศร่ำรวยภายในปี 2037 ธนาคารโลกประเมินไว้ว่า ไทยจะต้องรักษาระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 5
คำถามคือ แล้วอะไรคือปัจจัยกำหนดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า? เศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าลงจากปัจจัยกดดัน 2 ด้าน คือ 1) ปัจจัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุ และ 2) ปัจจัยทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานานเหมือนหนอนที่อยู่ในดักแด้นานกว่า 2 ทศวรรษ ด้วยข้อจำกัดด้านแรงงานและทุน จึงดูเหมือนว่ากุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ก็คือ “ผลิตภาพการผลิต (Productivity)”
ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการผลิต อธิบายว่า “ผลิตภาพการผลิต” คือ ตัวชี้วัดความสามารถหรือประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรในภาคการผลิตของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ทรัพยากรแรงงานและทุนมีอยู่จำกัด ประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าผลผลิตได้สูงกว่าภายใต้ทรัพยากรที่เท่ากัน จึงแสดงถึงผลิตภาพการผลิตที่สูงกว่า “ผลิตภาพ” ในที่นี้จึงเปรียบเหมือน “ความเก่ง” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนและ ความเชี่ยวชาญในการทำงานของแรงงาน การปรับทักษะของแรงงานให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในกระบวนการผลิต รวมไปถึงบริบทแวดล้อมที่เอื้อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพการผลิตของไทย (Kiratiwudhikul, forthcoming)* โดยใช้ข้อมูลผลสำรวจสำมะโนอุตสาหกรรมที่สำรวจข้อมูลจากสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมรวมกว่า 2.5 แสนราย ในปี 2006-2016 พบข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า ผลิตภาพการผลิตในภาพรวมของไทยเติบโตได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ต่อปี และสถานประกอบการที่มีผลิตภาพสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ไทล์แรก (กลุ่ม Frontier) มีระดับผลิตภาพสูงกว่าบริษัทที่เหลือ (กลุ่ม Non-frontier) ถึง 20 เท่า
คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการทั้งหมดสามารถยกระดับผลิตภาพไปสู่กลุ่ม Frontier?
จากการวิเคราะห์ได้ข้อสรุปว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดระดับผลิตภาพของสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยมีอยู่ 3 ประการ
ปัจจัยแรก คุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน ซึ่งมีผลเชิงบวกต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพมากที่สุด ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนจากระดับค่าจ้างของแรงงาน สัดส่วนรายจ่ายที่สถานประกอบการใช้ในการฝึกอบรมแก่แรงงานเพื่อเพิ่มพูนทักษะ รวมถึงสัดส่วนของเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่เป็นหุ้นส่วนต่อแรงงานที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด นอกจากนี้ ความสำคัญของปัจจัยนี้ยังสะท้อนได้จากผลสำรวจเรื่องอุปสรรคในการดำเนินกิจการที่สถานประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่ม Frontier ระบุว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
ปัจจัยที่สอง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิต (R&D) และการแพร่กระจายของนวัตกรรม จากการวิเคราะห์ผลสำรวจฯ สถานประกอบการในกลุ่ม Frontier มีการทำ R&D อย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าใช้จ่ายมากถึงร้อยละ 6-8 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และมีสัดส่วนของบริษัทข้ามชาติ มากกว่ากลุ่ม Non-frontier 7 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาและรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากต่างประเทศมาใช้ในระดับที่สูงกว่า
นอกจากนี้ สถานประกอบการทั้ง 2 กลุ่ม เห็นตรงกันว่าการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน เงินลงทุนและสภาพคล่อง รวมถึงแรงจูงใจด้านภาษีเพื่อการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการส่งเสริม R&D
ปัจจัยที่สาม โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบภาครัฐ ที่เอื้อให้เกิดการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยต้นทุนค่าสาธารณูปโภคและต้นทุนอื่นจากการดำเนินธุรกิจมีผลเชิงลบต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ ขณะที่สถานประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกและเผชิญกับการแข่งขันจากภายนอกประเทศเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิต สอดคล้องกับผลสำรวจเรื่องอุปสรรค
ในการดำเนินกิจการที่สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าอุปสรรคสำคัญคือ การขนส่งและโลจิสติกส์ กฎระเบียบราชการ และความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ
หากการเพิ่มผลิตภาพคือบันไดไปสู่การยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายที่มุ่งให้ประเทศขับเคลื่อนด้วยการเพิ่มผลิตภาพ จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องผลักดัน โดยควรมุ่งเป้าไปที่หัวใจของผลิตภาพ 3 ด้าน ได้แก่
1) ยกระดับทักษะและพัฒนาคุณภาพแรงงานไทย ผ่านการสร้างกลไกที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานที่ตรงความต้องการของตลาด พัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และสถาบันการอบรม ให้เชื่อมต่อถึงกันแบบครบวงจรเพื่อให้ลูกจ้างได้งานที่ใช่ และนายจ้างได้คนที่มีทักษะตามความต้องการ ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเอื้อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงเข้าสู่ภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพัฒนาระบบประกันสังคมให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม
2) ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ผ่านการสร้างกลไกแรงจูงใจ ด้านสิทธิประโยชน์ ภาษี และสินเชื่อ รวมถึงสร้างกลไกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันศึกษาและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนสร้างนวัตกรรมการผลิตของประเทศ
3) สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนและพัฒนาการผลิต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างภาครัฐเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงทบทวนกฎระเบียบราชการและวางแผนพัฒนาประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจบริบทใหม่
หากต้องการเปลี่ยนไทยให้เป็น “ไทยเก่ง” และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไต่ระดับไปสู่กลุ่มประเทศร่ำรวยภายในสองทศวรรษข้างหน้า นอกจากนโยบายภาครัฐต้องพุ่งตรงไปที่การพัฒนาทักษะแรงงาน สร้างนวัตกรรมการผลิต และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ไทยยังต้องลดละเลิกกฎระเบียบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และที่สำคัญ การยกระดับผลิตภาพต้องเดินหน้าต่อเนื่องโดยไม่รอช้า เพราะความท้าทายจากบริบทโลกใหม่กำลังมาถึงแล้ว
* งานศึกษานี้วิเคราะห์ผลิตภาพตามฟังก์ชั่นการผลิตแบบ Cobb-Douglas โดยผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) วัดจากการมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากส่วนที่มิได้มาจากการเพิ่มของปัจจัยจำนวนแรงงานและทุน
**บทความโดย ปัณฑา อภัยทาน และ ลัลนา กีรติวุฒิกุล ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
**บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย