โค้งสุดท้ายก่อนผ่านปีของการทดสอบสมรรถนะการปรับตัวจากวิกฤติการระบาดของ COVID-19
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ยังดำเนินต่อไปได้ และภาคธุรกิจส่วนใหญ่ที่ต้องพยุงกิจการหรือวางกลยุทธ์ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้โดยเสียหายน้อยที่สุด เพื่อรอช่วงที่เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้งในปี 2564 หรือปีฉลูที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งหลายท่านคงตั้งความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาเดินหน้าและวิกฤติต่างๆ จะคลี่คลายลง โดยเฉพาะหลังจากมีข่าวการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่คืบหน้าไปมากซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในปีฉลู ทั้งนี้ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการส่งออกของไทยในปี 2564 ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวสอดรับกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ หลังจากมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวอยู่ราว 7.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า (มูลค่าส่งออกทั้งปี 2563 คาดว่าจะหดตัวราว 7%) วันนี้ผมจึงอยากแบ่งปันมุมมองแนวโน้มการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถวางแผนกลยุทธ์การทำตลาดให้เหมาะสม ดังนี้
กลุ่มแรกเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีข่าวดีจากความก้าวหน้าของวัคซีน COVID-19 โดยจากการนำอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ IMF คาดการณ์ไว้มาวิเคราะห์จะพบว่ามีราว 60 ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจปี 2563 มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และเศรษฐกิจในปี 2564 จะสามารถฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเท่าเดิมหรือสูงกว่าเศรษฐกิจก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 โดยใน 60 ประเทศดังกล่าว มีประเทศ/พื้นที่ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไต้หวัน และ สปป.ลาว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ในเอเชีย ดังนั้น ในปี 2564 ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียให้มาก เพราะนอกจากจะมีประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤติ COVID-19 ได้เร็วแล้ว ล่าสุดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยความตกลงดังกล่าวถือเป็นกรอบการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
กลุ่มที่สองเป็นประเทศที่อาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยประเทศกลุ่มนี้ประกอบด้วยประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐ เยอรมนี และแคนาดา ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากวิกฤติ COVID-19 เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ แต่ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงก่อนเข้าสู่วิกฤติ และศักยภาพของรัฐบาลในการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤติ COVID-19 ได้ภายในปี 2565 นอกจากนี้ การพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่รุดหน้าไปมาก โดยเฉพาะวัคซีนที่พัฒนาโดย Pfizer ของสหรัฐร่วมกับ BioNTech ของเยอรมนี และวัคซีนที่พัฒนาโดย Moderna ของสหรัฐ ซึ่งผลการทดสอบบ่งชี้ว่ามีประสิทธิภาพสูงเกินกว่า 90% จะกลายเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศดังกล่าวอาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าปี 2565 โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าประชากรราวครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีนภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และถือว่าจะเริ่มมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้อาจเห็นการฟื้นตัวของความต้องการซื้อจากตลาดดังกล่าวอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
สำหรับประเทศที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงไม่ได้หมายความว่าประเทศเหล่านั้นจะไม่ฟื้นตัวนะครับ ประเทศอื่นๆ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งความสามารถในการฟื้นตัวก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความสามารถทางการคลังของรัฐบาลของประเทศนั้น ตลอดจนความเร็วในการได้รับวัคซีน ซึ่งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีแนวโน้มได้รับช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากมีความพร้อมด้านงบประมาณและศักยภาพในการผลิตวัคซีนที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น สำหรับการทำตลาดประเทศที่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้า ผู้ส่งออกควรมีความระมัดระวังและติดตามสถานะทางการเงินของคู่ค้าอย่างรอบคอบ รวมถึงอาจเพิ่มการทำประกันการส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระค่าสินค้า
ทั้งนี้ ในฐานะที่บทความนี้จะเป็นการส่งท้ายปีของผมกับท่านผู้อ่าน ผมจึงอยากจะขอให้ท่านสามารถก้าวข้ามผ่านปีที่ยากลำบากไปได้ และเตรียมพร้อมกับการพลิกฟื้นของเศรษฐกิจโลกเพื่อให้ปีฉลูเป็นปีที่ฉลุยสำหรับผู้ประกอบการทุกท่านครับ