ข้อความที่ส่งทางเฟซบุ๊คเป็น ‘หลักฐานเป็นหนังสือ’
การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นทางเลือกในการติดต่อสื่อสารด้านต่างๆ ที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลต้องเร่งผลักดันให้มีการตรากฎหมายเพื่อรองรับ
ก่อนการตราพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ออกใช้บังคับ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับและยอมรับ ข้อความอิเล็กทรอนิกส์และข้อความที่ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์มีสถานะทางกฎหมายเช่นเอกสารกระดาษซึ่งเห็นได้ชัดจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่เป็นที่อ้างอิงกันมากคือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3046/2537 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยโทรพิมพ์ติดต่อซื้อขายข้าวนึ่งต่อกัน ดังนี้ สัญญาซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อการเจรจายุติลงตามโทรพิมพ์ดังกล่าว แต่ ป.พ.พ. มาตรา 456วรรคสอง กำหนดว่า สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันมีราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป สัญญาจะซื้อจะขาย คำมั่นในการขายทรัพย์ที่มีราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไปต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดด้วยหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ฉะนั้นแม้จำเลยจะไม่สามารถจัดส่งข้าวนึ่งให้โจทก์ได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานการชำระหนี้บางส่วนหรือการวางมัดจำหรือลายมือชื่อของจำเลยที่ต้องรับผิดแล้วโจทก์จึงไม่สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้
เนื่องจากในยุคโลกาภิวัตน์ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นทางเลือกในการติดต่อสื่อสารในด้านต่างฯ รวมทั้งการติดต่อสื่อสารด้านธุรกิจการค้า ซึ่งจะอำนายความสะดวกรวดเร็วต่อการติดต่อทำธุรกิจการค้าอย่างมาก และจะแตกต่างไปจากรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง
ในปี 2539 รัฐบาลเห็นชอบต่อนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ และนโยบายพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อให้ทันสอดคล้องเหมาะสมกับยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งผลักดันให้มีการตรากฎหมายเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประการสำคัญรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีสถานะเท่าเทียมกับข้อความที่ปรากฏอยู่บนกระดาษ และรับรองสถานะทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นซึ่งใช้ในการยืนยันตัวบุคคลมีสถานะเช่นเดียวกับลายมือชื่อธรรมดาของมนุษย์ จึงได้มีการศึกษาเตรียมการยกร่างกฎหมายต่างฯเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้น
ในที่สุดในปี พ.ศ. 2544 จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ.2544 ออกใช้บังคับ ซึ่งได้ยกร่างขึ้นตามแนวกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ
สาระที่สำคัญคือ ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้กฎหมายของข้อความที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้ โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว .
ในกรณีบุคคลต้องลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้วถ้าใช้วิธีการสามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นของตน และวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่เชื่อถือได้เหมาะกับวัตถุประสงค์
ต่อมาในปีพ.ศ.2551 มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(ฉบับที่2) พ.ศ. 2551
สาระสำคัญที่แก้ไขเพิ่มเติมคือ ให้มีบทบัญญัติรองรับในเรื่องตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถระบุถึงตัวผู้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และให้มีบทบัญญัติกำหนดให้สามารถนำเอกสารซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้แทนต้นฉบับหรือให้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่น่าสนใจและถือเป็นบรรทัดฐานได้ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 ที่วินิจฉัยว่า
ข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟซบุ๊ค มีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนให้แล้ว ยกให้หมดไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับด้วย ตามมาตรา 7 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 8 บัญญัติว่าภายใต้บังคับ บทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
ดังนั้นข้อความดังกล่าวที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟซบุ๊ค แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตามแต่การส่งข้อความของโจทก์ทางเฟซบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความดังกล่าวทางเฟซบุ๊คถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนา ดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะปลดหนี้ให้จำเลย แต่ทำไปเพราะความเครียดต้องการประชดประชันจำเลยนั้น โจทก์ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกไปนั้นตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายในของโจทก์
ความเห็น จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว อาจถือเป็นแนวบรรทัดฐานได้ว่าการส่งข้อความทางสื่อสมัยใหม่ที่เรียกว่าโซเชียลมีเดียอื่นฯ ที่ส่งผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทำนองเดียวกับเฟซบุ๊ค เช่น Email, Twitter, Instagram, WhatsApp ซึ่งสามารถระบุชื่อผู้ส่งได้ ก็เข้าข่ายถือเป็น “หลักฐานเป็นหนังสือ” ในกรณีที่เป็นการทำธุรกรรมหรือการดำเนินการใดฯที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
---------