3 มุมมองการลงทุนหลักสำหรับปี 2564
3 มุมมองการลงทุนหลักสำหรับปี 2564 ตลาดหุ้นโลกจะเข้าสู่ภาวะกระทิงอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ ตราสารหนี้กำลังจะหมดมนต์เสน่ห์เพราะอะไร และตลาดหุ
1. ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ Bull Run
ปี 2564 เป็นปีแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเฉลี่ยประมาณ 6% ภายหลังจากการหดตัวในปี 2563 ซึ่งนับเป็นเศรษฐกิจถดถอยอันเกิดจากเหตุการณ์สำคัญ (Event Driven) เหมือนฝันร้ายกลายเป็นดีคือการถดถอยกินระยะเวลาสั้นมากเพียง 2 ไตรมาส และเริ่มมีการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา
ปี 2563 ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอันเนื่องมากจากการเพิ่มขึ้นของ Valuation เป็นหลัก แต่ปี 2564 ตลาดหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของกำไรเป็นหลักภายหลังจากระดับกำไรของบริษัทจดทะเบียนชะลอตัวในปีนี้
เนื่องจากเราอยู่เพียงในช่วงต้นของวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกยังตัดสินใจที่จะอัดฉีดเงินด้วย QE ต่อไปซึ่งทำให้สภาพคล่องในระบบมีสูง ส่งผลดีต่อ fund flow ไปสู่ตลาดหุ้นต่อเนื่องในปีหน้า
นอกจากนโยบายการเงินแล้วยังมีนโยบายการคลังสนับสนุน โดยเฉพาะจากทางสหรัฐฯ ที่ไบเดนจะสามารถอัดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในต้นปีหน้า
องค์ประกอบทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลประกอบการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นทั้งการเงิน การคลังจึงทำให้ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ดีที่ตลาดหุ้นโลกจะเข้าสู่ภาวะ Bull Run ต่อเนื่องจากปีนี้
โดยธีมการลงทุนในระยะยาวที่น่าสนใจยังคงเป็นธีมด้านเทคโนโลยีที่กำลังสร้าง network effect รับผลประโยชน์จากจำนวนผู้ใช้งานที่มีมหาศาล รวมไปถึงธีม ESG ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเม็ดเงินจะไหลไปที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด หรือธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม
ขณะที่ในระยะสั้นครึ่งปีแรกเม็ดเงินน่าจะไหลไปสู่การลงทุนกลุ่มวัฏจักร เช่นกลุ่มธนาคาร พลังงาน ซึ่งปรับตัวลงอย่างมากในช่วงปีนี้
2. ตราสารหนี้จะใช้กระจายการลงทุนไม่ได้ดีอย่างเคย
เราอยู่ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมาก รวมไปถึงดอกเบี้ยติดลบ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ อยู่ต่ำกว่า 1% ขณะที่ของญี่ปุ่น และยุโรปอยู่ใกล้ศูนย์และติดลบ ส่วนพันธบัตร 10 ปีของไทยก็ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 1% ต้น ๆ เท่านั้น
โดยในปีที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนจึงได้ไหลไปเข้าตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นอย่างมาก กดให้ระดับ Credit Spread ปรับตัวลดลงจนอยู่ระดับใกล้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เช่นของ US Investment Grade มี spread อยู่ที่ 1% ขณะที่ US High Yield อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4%
ส่วนต่างเครดิต และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำทำให้การลงทุนในตราสารหนี้โดยรวมมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนรวมต่ำลงใน 1 – 2 ปีข้างหน้าเหลือเพียง 1 – 3% ต่อปี
นอกจากนี้ตราสารหนี้จะทำหน้าที่ลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวมได้น้อยลง เพราะในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน เงินจะไม่ไหลไปที่พันธบัตรรัฐบาลเนื่องอัตราผลตอบแทนต่ำ และธนาคารกลางเองก็ไม่ได้มี room ในการลดดอกเบี้ยให้ต่ำไปกว่านี้
การจัดพอร์ตการลงทุนใน 1 – 2 ปีข้างหน้าจึงเหมาะกับการใช้ทองคำ กองทุนอสังหาฯ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานในการเป็นเครื่องมือกระจายการลงทุนมากกว่าการใช้ตราสารหนี้
3. การท่องเที่ยวไม่ฟื้น ประเทศไทยไม่ฟื้น
แม้จะมีวัคซีนออกมาแล้วจากหลายค่าย แต่การแพร่ระบาดของ Covid-19 จะยังทำให้ผู้คนหวาดกลัว ไม่กล้าออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างที่เป็นมา คนจะยังลุ้นดูยาว ๆ ว่าวัคซีนรักษาได้จริงหรือไม่ เชื้อโรคมีการกลายพันธุ์หรือไม่ ทำให้ผู้คนทั่วโลกจะยังไม่กล้าออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างที่เคยเป็นมา
ในขณะที่ประเทศไทยนั้นไม่ได้มีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งอย่างในจีน หรือสหรัฐฯ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 15% ของ GDP และส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินท่องเที่ยวจากต่างชาติ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมามองแนวโน้มการเติบโตของประเทศไทยอยู่ที่ 3.2% เท่านั้นในปีหน้าซึ่งนับว่าเป็นการฟื้นตัวที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก ดังนั้นตลาดหุ้นไทยที่ระดับโซน 1,500 +/- จึงน่าจะเป็นโซนที่ดีสำหรับการปรับพอร์ตลดหุ้นไทยไปเพิ่มการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ
สุดท้ายแล้วเรื่องโควิดนี่ละครับที่จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2564 เนื่องจาก ณ เวลานี้ตลาดได้คาดการณ์ไปแล้วว่าโลกจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แจกจำหน่ายกันอย่างทั่วถึงในช่วงไตรมาส 1 – 2 ของปีหน้า ดังนั้นถ้าเกิดกรณีที่เชื้อโลกกลายพันธุ์อย่างที่เริ่มเห็นในอังกฤษและทำให้วัคซีนใช้ไม่ได้ผลนั้น จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกทันทีครับ
FundTalk รายงาน เจษฎา สุขทิศ finnomena