ถอดบทเรียนจาก ความรุนแรงในสหรัฐ
น่าตกใจ เมื่อการชุมนุมผลเลือกตั้งสหรัฐ ลุกลามเป็นเหตุรุนแรงบุกยึดรัฐสภา ขัดขวางฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที เป็นเหตุให้เมืองหลวงประกาศภาวะฉุกเฉิน
เป็นสิ่งที่น่าเศร้าเมื่อการชุมนุมที่บานปลายจนกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงจากการบุกยึดรัฐสภาเพื่อขัดขวางการรับรองตำแหน่งประธานาธิบดีคนถัดไปนั้นเป็นเหตุให้เกิดมีผู้บาดเจ็บล้มตาย แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ การชุมนุมนั้นได้รับ “แรงกระตุ้น” จากประมุขของฝ่ายบริหาร ซึ่งก็คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั่นเอง
การประท้วงถือเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ขอบเขตที่กฏหมายกำหนด แต่ความรุนแรง การทำลายทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งจะต้องได้รับโทษ
การประท้วงเพื่อขัดขวางการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐ แต่เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือไม่มีใบเลยก็ตาม เช่นเดียวกับเหตุการณ์การปิดรัฐสภาในไทย เราในฐานะของพลเมืองของโลกสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรได้บ้างจากเหตุการณ์นี้และสมควรที่จะเติบโตต่อไปอย่างไนในสังคมประชาธิปไตย น่าจะเป็นคำถามที่ชวนคิด
เมื่อประมุขของฝ่ายบริหารส่งสัญญาณสนับสนุนการประท้วงที่ในที่สุดแล้วส่งผลให้เกิดความรุนแรง ย่อมจะมีผลตามมาจากกระทำนั้น หลักการของระบอบประชาธิปไตยที่แบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้น ก็เพื่อถ่วงดุลกันและกัน เพื่อค้ำจุนการดำเนินชีวิตต่อไปของประชาชนโดยปกติสุข ภายใต้นิติรัฐหรือรัฐที่มีกฏหมายค้ำจุนปกป้องพลเมืองทุกคนภายใต้ความเท่าเทียม
ในทางหลักการแล้ว เมื่ออำนาจใด 1 ใน 3 นี้มีแนวโน้มที่จะทุจริต หรือเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนและประเทศ อำนาจอีก 2 ส่วนที่เหลือจึงมีหน้าที่และมีสิทธิที่จะจัดการทำหมันอีกอำนาจหนึ่งนั้น ทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีการถ่วงดุลตรวจสอบตลอดจนถอดถอนได้
ในเชิงเทคนิคแล้วนั้น ประมุขของฝ่ายบริหารสามารถถูกถอดถอนโดยรัฐสภา ขณะที่ประมุขของฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ได้ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ขณะที่ฝ่ายตุลาการก็สามารถยกเลิกกฏหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือคำสั่งของรัฐบาลได้หากพิจารณาแล้วว่ากฏหมายหรือคำสั่งนั้นได้ทำการลิดรอนสิทธิของประชาชน
เสียงและพลังของประชาชนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถตรวจสอบและให้ข้อคำนึงแก่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ดีเช่นกัน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสหรัฐได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แม้แต่ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดโลกอย่างประธานาธิบดีสหรัฐก็มีอำนาจอย่างจำกัด และการทุจริตต่อหน้าที่ก็สามารถถูกตรวจสอบและถอดถอนได้
ประชาชนและภาคธุรกิจก็สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลได้โดยการไม่สนับสนุนบุคคลและผู้สนับสนุนผู้ทุจริตและก่อให้เกิดความรุนแรงนี้ ผ่านทางเม็ดเงินบริจาค การงดอุดหนุนสินค้า ตัดท่อน้ำเลี้ยง ตลอดจนงดการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า
สื่อที่มีจรรยาบรรณก็ทำหน้าที่ระงับการปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความรุนแรงได้ โดยการกระชับพื้นที่ไม่ปล่อยให้เกิดความเข้าใจผิดจากข่าวปลอม คำโกหกหรือการปลุกปั่นยุยงอันจะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ในทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบหรือศูนย์ใบนั้น อำนาจในการบริหารประเทศนั้นมีอยู่อย่างระยะเวลา มีขอบเขต มีความจำกัด จึงควรใช้อย่างมีสติใช้อำนาจให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด และอำนาจนั้นก็ถูกตรวจสอบโดยระบบและประชาชนอยู่เสมอ การทุจริตต่ออำนาจที่ประชาชนมอบให้นั้นย่อมเกิดผลลัพธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้