‘รัฐธรรมนูญ’ มิได้ให้สิทธิเสรีภาพที่ไร้ขอบเขต
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ได้บัญญัติถึงการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนครอบคลุมในทุกเรื่องที่เคยมีมา
ในฐานะผู้มีส่วนร่วมร่างเชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้สิทธิเสรีภาพที่จะตีความให้เกิดประโยชน์ในการใช้สิทธิเสรีภาพในทางขยายให้เพิ่มพูนขึ้นมิใช่การจำกัดสิทธิเลย “หากกฎหมายมิได้บัญญัติหรือมีข้อห้ามข้อจำกัดไว้” ซึ่งคนที่ไม่อ่านรัฐธรรมนูญหรือไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญมักจะกล่าวหารัฐธรรมนูญฉบับนี้เรื่อยมา แต่น่าประหลาดใจที่การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไม่มีประเด็นเหล่านี้มาประกอบเหตุผลสำคัญในการยื่นร้องแก้ไข นอกจาก “เป็นเรื่องประกอบที่เป็นผลประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นขวากหนามที่ฝ่ายการเมืองดูจะได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่” ที่เขียนเช่นนี้มิได้หมายความว่า การเป็นคนมีส่วนร่วมโดยตรงกับรัฐธรรมนูญจะต้องคัดง้างหรือยืนกรานที่จะไม่ให้มีการแก้ไขใดๆ แบบหัวชนฝา แต่ต้องเรียนย้ำชัดๆ ว่า ด้วยความเป็นปัญญาชนที่เราต่างรู้เท่าทันกัน หากฝ่ายใดมีเหตุมีผลเพียงพอมิใช่ “มิจฉาทิฐิ” และเป็นด้วยภูมิปัญญาความรู้อันมิอาจปฎิเสธใดๆ ได้แล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดจะไปคัดค้าน จึงขอย่อความให้เข้าใจโดยง่ายว่า ณ เวลานี้ยังหาข้อวินิจฉัยใดที่เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีสภาพที่ใช้การไม่ได้หรือสร้างความเสียหายกระทั่งต้องมีการแก้ไขกันแบบรอช้ามิได้แม้แต่เวลานาที ถึงขนาดที่แม้จะงดประชุมเพราะโควิดก็ยังไม่ยอมกัน
นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นเจตนาของบทความนี้ประการหนึ่งแบบชัดๆ ไปว่า ไม่เห็นด้วยกับ ความดึงดันที่จะต้องแก้ไขกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน หากจะเพียงเพราะคิดว่า “ตนเอง หรือ ฝ่ายตนอาจร่างได้ดีกว่า” หรือ “อาจเป็นเพราะไม่ชอบหน้าค่าตาคับแค้นใจกันมาแต่ปางใด” อันเป็นสิ่งที่มิใช่เหตุใช่ผลสาระสำคัญ และไม่ใช่การมุ่งมั่นเอาชนะกันเพื่อ “ความสะใจ” เราได้เห็นแล้วว่าการเมืองของประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีความศิวิไลซ์ทางการเมือง ต่างมีบทเรียนและตัวอย่างให้ได้เรียนรู้ว่า เอาเข้าจริง ทุกระบบรูปแบบ ไม่มีสูตรสำเร็จที่ดีที่สุด สหรัฐอเมริกาว่าดีนักดีหนา ทุกคนเห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า การเมืองยังคงเป็นเรื่องของชนชั้น ไม่ว่าจะเดโมแครต หรือ รีพับลีกัน การเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้ทุนต้องระดมทุนมหาศาล ลำพังการเลือกตั้งซ่อมวุฒิสมาชิกสองที่นั่งของรัฐจอร์เจียแต่ละฝ่ายยังต้องใช้เงินสู้กันเป็นร้อยล้านเหรียญ
สื่อของสหรัฐอเมริกาเอง กลายเป็น “ปัจจัยสำคัญในชัยชนะ” โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ ถ้าใครได้ติดตามข่าวอย่างเคร่งเครียดแบบเกาะติดเหมือนผมตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จะทราบดีว่า การแบ่งค่ายของสื่อเหมือนจะเป็นธรรม ใครรักใครก็เชียร์คนนั้นไป แต่อย่าลืมว่า ถึง “ซีเอ็นเอ็น” จะให้ท้ายเดโมแครต แล้ว “ฟ็อกซ์นิวส์” จะสนับสนุนทรัมป์ แต่ความเป็นยักษ์ใหญ่ การมีเครือข่ายทั่วโลกของ ซีเอ็นเอ็น มิได้ทำให้การเมืองกลายเป็นสงครามของสื่อในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งอิทธิพลให้คนทั้งโลก เข้าใจอะไรต่อมิอะไรไม่ว่าจะถูกหรือผิดไปตามที่สื่อใหญ่มีเครือข่ายมาก ใครไปโรงแรมใหญ่ๆ ก็ต้องมีซีเอ็นเอ็น เป็นผู้นำเสนอ ส่วนฟ็อกซ์นิวส์ยังจำกัดอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ และเรตติ้งก็ไม่ใช่สถานีข่าว 24 ชั่วโมง ดังนั้นพูดแบบกลางๆ คือ ถ้าเกาะ “ซีเอ็นเอ็น” ได้ จะมีความได้เปรียบ ส่วน “ทรัมป์” ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประธานาธิบดี จะดีจะเลวอย่างไรทุกท่านประเมินเองได้ แต่หากชม “ซีเอ็นเอ็น” อย่างเดียวไม่เปิดดูสถานีข่าวสำนักอื่น ก็จะเห็นภาพทรัมป์เป็นยักษ์หรือผู้ร้ายที่น่ากลัวในภาพที่ “ซีเอ็นเอ็น” นำเสนอ
หรือแม้แต่การปกครองของ “ประเทศจีน” ค่ายสังคมนิยม หากพิจารณาด้วยความรู้เท่าทันก็มิใช่จะมีภาพอันน่าหวาดกลัวเหมือนในสมัยที่ผมและหลายๆ ท่าน ยังเพิ่งรู้จักจีนจากสื่อต่างประเทศ เวลานั้นอะไรต่อมิอะไรดูจะเป็นเรื่องล้าสมัยในสายตาของสื่อ และการเมืองการปกครองน่าจะเผด็จการสุดกู่ แต่ในเวลาที่เรามีสื่อสังคมหรือโซเชียลมีเดียหลายรูปแบบ และทางการจีนได้ปรับตัวจากพัฒนาการทางการเมืองที่ยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวท่ามกลางการยืนหยัดในหลักและวิธีการของเขากระทั่งกลายเป็นประเทศที่มีจีดีพีสูงสุดในปี 2020 มีความสำเร็จในด้านต่างๆ ทัดเทียมกับยุโรปอเมริกาและน่าจะแซงหน้าไปได้ในเวลาอันใกล้ ก็ยังมีประเด็นให้ถกเถียงในเรื่องวิถีการจัดการกับสิ่งที่เราเรียกเพราะๆว่า “ผู้เป็นศัตรูของรัฐ (enemy of the state) “ จึงเห็นได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว จะเป็นรูปแบบวิธีการปกครองแบบใดที่เห็นว่าดีว่างามแท้ เราก็ต้องปรับแนวทางวิธีการที่เหมาะสมกับบริบททางการเมืองและวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนของเราให้ได้ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
สำหรับท่านที่ไม่อ่านมาแต่ต้นหรืออ่านแบบเป็นบางวรรค ถ้ามาถึงย่อหน้านี้ต้องบอกว่า นี่คือ หัวใจสำคัญหรือสิ่งที่ผมอยากสื่อสารให้ได้รับรู้กันด้วย ต้องย้อนมาในมาตรา 34 ของหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องถือว่า การแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง วิชาการ หรือ ทางการสื่อสารอื่นใดเป็นสิทธิโดยชอบแต่ก็ยังมีการกำกับไว้ด้วยข้อจำกัดบางประการ มิใช่ว่า เมื่อมีสิทธิเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญแล้ว จะทำอะไรได้แบบไร้ขีดจำกัด เพราะยังมีเรื่องของมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรม มีข้อกฎหมายอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ในการยกเว้นเป็นข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ
ผมจึงไม่ค่อยสบายใจนัก ที่ระยะหลังได้เห็นผู้บริหารองค์กรที่น่าจะมี “ความเป็นกลางทางการเมือง” ออกมาให้ความเห็นบ้าง หรือ แม้กระทั่งร่วมเคลื่อนไหวในทางการเมืองในวิธีการต่างๆ อย่างชัดแจ้ง แม้จะอ้างว่า แสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แต่หมวกอีกใบที่สวมอยู่ในฐานะที่ต้องบริหารองค์กรให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาว่า ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือพึงจะต้องมี “อุเบกขา” ในทางการเมืองอาจได้รับผลกระทบตามมา จึงเรียกร้องให้พิจารณาเลือกเอาว่า ท่านประสงค์จะเป็นประชาชนธรรมดาที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ เพราะการเขียนกฎหมายมองว่า “ปวงชนชาวไทย” ที่ว่านั้น มีจุดมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ให้กับประชาชนธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีฐานะตำแหน่งให้คุณให้โทษผู้หนึ่งผู้ใด หรือให้แบบไม่มีข้อจำกัดอื่นๆ มากำกับห้ามปรามเลย ท่านพึงคิดได้เองด้วยความเป็นวิญญูชนผู้รู้รอบ