ประเทศไทยได้อะไร จากเทศกาล 9.9 10.10 11.11 12.12 (2)
ตลาด e-Marketplace เราไม่ได้แข่งในเกมที่ไทยเป็นผู้กำหนดกติกา แต่เป็นเกมของต่างชาติที่มาใช้ไทยเป็นสมรภูมิรบ
โดย 3 ผู้ยิ่งใหญ่ Shopee-Lazada-JD กำลังมีอำนาจเหนือตลาดอย่างเบ็ดเสร็จแม้จะไม่ผูกขาด (นิยาม คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าว่า ถ้าผูกขาดต้องเป็นผู้เล่นรายเดียว!!?)
e-Marketplace Platform ไม่ได้แค่ขายของแต่กำลังผูกขาดธุรกิจต่อเนื่อง
e-Marketplace Platform กิจกรรมขั้นต้นก็คือ การให้บริการพื้นที่หรือสื่อกลางให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชัน เพื่อเป็นช่องทางซื้อขายสินค้าหรือบริการ แต่ธุรกิจซื้อขาย e-Marketplace อยู่โดดเดี่ยวลำพังก็จะไม่โต จะต้องมีธุรกิจ ”ตัวกลาง” ต่อเชื่อมนับตั้งแต่การให้บริการชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจร บริการจัดส่ง การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และให้ข้อมูลข่าวสาร การอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจออนไลน์
ดังนั้น เราจะได้เห็นธุรกิจ “ตัวกลาง” เกิดมาช่วยภาคธุรกิจมากขึ้น ตัวกลางเหล่านี้จะคอยเชื่อมแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ากับระบบหลังบ้านของธุรกิจ e-Marketplace และคอยรายงานยอดขาย จัดการการส่งสินค้า รับชำระเงิน หรือแม้แต่จัดการด้านแวร์เฮ้าส์
ธุรกิจ “ตัวกลาง” เจ้าของ e-Marketplace Platform อาจจะเอาท์ซอร์แต่เท่าที่เห็นก็จะเหมารวบทำเองหมด สิ่งที่ตามมาก็คือ เราจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าจากจีนจะไหลทะลักเข้ามาแข่งกับพ่อค้าแม่ค้าในไทยอย่างรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มทั้งสาม โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก็คือ สินค้ากีฬา นาฬิกา ยานยนต์ โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ เอาท์ดอร์ และสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนถนัดผลิต
ประมาณการคร่าวๆ สินค้าที่ขายบน e-Marketplace ในไทยตอนนี้ว่ามีกว่า 50 ล้านรายการ ในจำนวนนี้ 80% หรือ 40 ล้านรายการเป็นสินค้าที่มาจากจีน! ความน่ากลัวจึงอยู่ที่พฤติกรรมของผู้ซื้อชาวไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น เงินที่จับจ่ายใช้สอยบนโลกออนไลน์มีแนวโน้มไหลออกสู่ต่างประเทศโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มผู้อำนาจเหนือตลาดทั้งสาม (Shopee-Lazada-JD) หากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นจริง กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ธุรกิจที่ไม่มีโมเดลการหารายได้ทางอื่นเตรียมไว้รองรับ เช่น ร้านค้าโชห่วยในต่างจังหวัดนั่นเอง (ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com)
E-Commerce ทำลายโครงสร้างการค้าและคนกลาง
ตามหลักการมูลค่าสิ่งของถูกส่งพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศเกินกว่า 1,500 บาท จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ภาษีดังกล่าวเป็นภาษีของกรมสรรพากร ส่วนมูลค่าสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทได้รับการยกเว้นทั้งภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม หากพิจารณาการช้อปผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace พบว่า คนไทยใช้เงินซื้อสินค้าเฉลี่ยอยู่ที่ 738 บาท สะท้อนให้เห็นถึงการแตกสินค้าเพื่อให้ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทจะได้ไม่เสียภาษี
ปัจจุบันมีผู้ค้าจากจีนเข้ามาเปิดร้านขายออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada จำนวนมาก และขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน (เพราะไม่เสียภาษี) พร้อมส่งเร็ว โดยเข้ามาได้หลากหลายวิธี หนึ่งในนั้น ผ่านการจัดการสต็อกสินค้าโดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงเมื่อผู้ค้าจีนเปิดร้าน ก็ส่งสินค้ามาไว้ที่โกดังกลางของแพลตฟอร์ม เมื่อมีคำสั่งซื้อ แพลตฟอร์มนั้นๆ จะส่งสินค้าให้ผู้สั่งซื้อ โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องเสียภาษี
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคอาจได้สินค้าราคาถูกลง แต่สิ่งที่จะหายไป คือ เทรดเดอร์ (พ่อค้าคนกลาง ทั้งค้าปลีก ค้าส่ง) ที่เคยนำสินค้าจีนเข้ามาขาย และสินค้าที่จะได้รับผลกระทบแรกๆ คือ กลุ่มแกดเจ็ต ที่ผลิตจากจีน ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า เพราะมาจากโรงงานโดยตรง! เป็นการทำลายโครงสร้างค้าปลีกโดยตรง
การแข่งขันอีคอมเมิร์ซรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยไม่สามารถแข่งด้านราคาได้ วันนี้กำลังแข่งกับโรงงานจีนที่เข้ามาขายตรงบน Shopee และ Lazada ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็ยากที่จะสู้ได้!