J-Startup: โครงการปั้นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นในประเทศญี่ปุ่น

J-Startup: โครงการปั้นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นในประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 3 ของโลก และ มีสตาร์ทอัพประมาณ 10,000 บริษัท แต่ว่ามีสตาร์ทอัพเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถแข่งขันในระดับโลก

        จากข้อมูลของ CB Insights ประเทศญี่ปุ่นมียูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพียง 4 บริษัทเท่านั้น คือ (1) Preferred Networks บริษัทที่เน้นการประยุกต์ใช้ deep learning ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (2) SmartNews บริษัทที่เน้นการใช้ AI ในการรวมรวมข่าว (3) Liquid บริษัทที่ทำตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราคริปโต และ (4) Playco ซึ่งเป็นบริษัทเกมที่เน้นการพัฒนาเกมที่ไม่ต้องมีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน (instant game)

 

            หากดูแค่จำนวนยูนิคอร์นของประเทศญี่ปุ่น ก็ต้องถือว่าประเทศญี่ปุ่นว่ามียูนิคอร์นจำนวนน้อยมากเมื่อกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งมียูนิคอร์นประมาณกว่า 200 บริษัท และ 100 บริษัทตามลำดับ ทั้งนี้ หากเทียบจำนวนยูนิคอร์นกับขนาดเศรษฐกิจ ก็ยังถือว่าประเทศญี่ปุ่นมียูนิคอร์นจำนวนน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น ในปี 2018 ทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI: Ministry of Economy, Trade and Industry) จึงได้มีโครงการชื่อว่า J-Startup เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้สตาร์ทอัพของประเทศญี่ปุ่นสามารถแข่งขันในระดับโลกได้  โดยลักษณะพิเศษของโครงการนี้คือ การสนับสนุนนั้นจะมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน

 

            โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาบริษัทสตาร์ทอัพของประเทศญี่ปุ่นให้เป็นยูนิคอร์นจำนวน 20 บริษัทภายในปี 2023 โดยที่โครงการนี้มีนโยบายหลักคือ การสร้างบริษัทต้นแบบ (role model) เพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ในสังคมและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศ (ecosystem) ของสตาร์ทอัพในประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยการพัฒนาบริษัทสตาร์ทอัพของโครงการนี้จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนอันได้แก่  Select >  Connect > Go Global

 

            Select - สตาร์ทอัพที่สามารถเข้าร่วมโครงการนั้นแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภท Deep Tech ประเภท Platform และประเภท SGDs (Sustainable Growth Developments) โดยในการที่จะเข้าร่วมโครงการได้นั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ สาขาวิชา ที่ METI คัดสรรเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ปัจจุบันมีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกมากกว่า 100 บริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจในหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็น ด้านอากาศยานและอวกาศ AI หุ่นยนต์ IoT/ICT Healthcare เป็นต้น

 

            Connect - การสนับสนุนที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนั้น มาจากทั้งภาคเอกชน ซึ่งได้แก่ venture capital accelerator และบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานในภาครัฐ ในส่วนของภาคเอกชนนั้น จะมีการให้เช่าพื้นที่ในการทำธุรกิจ ซึ่งรวมถึงอาจจะมีการคิดาค่าเช่าในอัตราพิเศษ การให้ความช่วยเหลือในการทำวิจัย การจัด acceleration program การให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ การแนะนำลูกค้าหรือบริษัทในเครือให้บริษัทสตาร์ทอัพรู้จัก ในส่วนการสนับสนุนจากภาครัฐนั้น จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักคือ METI New Energy Development Organization (NEDO)  และ Japan External Trade Organization (JETRO) โดยจะมีการให้ใช้โลโก้ J-Startup การช่วยทำประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ การช่วยเหลือในการสร้างกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา การส่งไปเป็นตัวแทนของประเทศในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศมี การจับคู่ธุรกิจ การสนับสนุนการใช้ regulatory sandbox และการช่วยเหลือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

 

            Go Global – ส่วนสุดท้ายของโครงการจะเป็นการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพออกไปเติบโตในต่างประเทศโดยผ่านโครงการ JETRO Global Acceleration Hub ที่จะให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศที่จะไปลงทุน ให้การดูแลและคำแนะนำ และช่วยสร้างกลุ่มของสตาร์ทอัพญี่ปุ่นในแต่ละประเทศ  และ การจัด Startup Tour ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ เช่น อเมริกา โปรตุเกส เป็นต้น

 

            นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศ (ecosystem) ของสตาร์ทอัพในประเทศญี่ปุ่นด้วย เช่น ระบบ startup visa ซึ่งช่วยผ่อนผันเรื่องวีซ่าให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจในจังหวัดที่ได้รับการรับรอง และการให้ความช่วยเหลือบริษัทต่างชาติในการมาทำธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นผ่านทางสำนักงานของ JETRO ในประเทศต่าง ๆ ภายใต้โครงการ JETRO Global Acceleration Hub

 

            ประเทศไทยเองนั้นก็กำลังมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสตาร์ทอัพและสร้างยูนิคอร์น โครงการ J-startup นั้น ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจของความพยายามในการสร้างสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเพื่อแข่งขันในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยอาจจะพิจารณารูปแบบ วิธีการ มาตรการต่าง ๆ ว่าเหมาะสมหรือนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งในการส่งเสริมสตาร์ทอัพดังกล่าวอาจจะต้องมีการใช้ความร่วมมือทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงมาตรการหรือนโยบายทางกฎหมายต่าง ๆ ร่วมด้วย

อ้างอิง www.j-startup.go.jp และเอกสารเผยแพร่บนเว็บไซต์ดังกล่าว

  161211556530

*บทความโดย ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล และ ดร. ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล

ที่ปรึกษากฎหมาย ด้าน M&A Corporate และ Technology สำนักงานกฎหมาย Chandler MHM

[email protected] / poompat.u@ mhm-global.com  

**บทความนี้เป็นความเห็นในทางวิชาการส่วนตัวของผู้เขียน และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท แชนด์เล่อร์ เอ็มเอชเอ็ม จำกัด ที่ผู้เขียนทั้งสองทำงานอยู่